การที่เชื้อเอชไอวีจะเข้าสู่ร่างกายได้ ต้องมีความเสี่ยงครบทั้ง 3 ปัจจัย หรือตามหลัก SQQR (Source –Quality-Quantity-Route) ซึ่งรับรองโดยองค์การอนามัยโลก ดังนี้
- สัมผัสแหล่งที่อยู่ของเชื้อเอชไอวี: เชื้อเอชไอวีอยู่ในคนเท่านั้น โดยอาศัยอยู่กับเม็ดเลือดขาว และสารคัดหลั่งบางอย่างของร่างกาย ที่พบมากคือ เลือด น้ำอสุจิ และน้ำในช่องคลอด ส่วนในน้ำลายมีเชื้อเอชไอวีอยู่น้อยมาก ไม่มีเม็ดเลือดขาวในน้ำลาย ดังนั้น จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการสัมผัสน้ำลายน้อยมาก นอกจากนี้ ยังไม่พบเชื้อเอชไอวีในเหงื่อ น้ำตา อุจจาระ ปัสสาวะ ในน้ำนมมีเชื้อเอชไอวีอยู่น้อยมากเช่นกัน แต่เนื่องจากเด็กทารกดูดน้ำนมเป็นปริมาณมาก จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อฯ มากขึ้นด้วย
- มีปริมาณและความรุนแรงของเชื้อเอชไอวีมากพอ: เชื้อเอชไอวีไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นอกร่างกายคน อีกทั้งสภาพในร่างกายบางส่วน และสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายมีผลทำให้เชื้อเอชไอวีอยู่ไม่ได้ เช่น ภายในกระเพาะอาหาร สภาพอากาศความร้อน ความแห้ง หรือความเป็นกรด – ด่าง เป็นต้น
- มีช่องทางให้เชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย: ช่องทางที่เชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย ได้แก่ ทางเนื้อเยื่ออ่อนๆ เช่น เยื่อบุช่องคลอด รู/ท่อปัสสาวะ และการเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง แต่ถ้าเป็นผิวหนังทั่วไปเชื้อเอชไอวีไม่สามารถเข้าไปได้ กรณีที่มีความเสี่ยงทางบาดแผล บาดแผลต้องเป็นแผลใหญ่และสด รวมทั้งมีปริมาณและความรุนแรงของเชื้อเอชไอวีมากพอ
ดังนั้น โอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อเอชไอวี จากการอยู่ร่วมกับเด็กที่มีเชื้อเอชไอวี ไม่ว่าจะในกรณีของการเรียนด้วยกัน เล่นด้วยกัน กินอาหาร หรือใช้สิ่งของร่วมกันในโรงเรียน ไม่มีปัจจัยเสี่ยงครบ 3 ประการที่จะทำให้เกิดการรับเชื้อเอชไอวีได้เลย
ส่วนกรณีเด็กกัดกัน ซึ่งคนจำนวนมากวิตกกังวลว่าจะทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้นั้น หากพิจารณาโดยปัจจัย 3 ประการข้างต้น แยกได้เป็นสองกรณีคือ
- เด็กมีเชื้อเอชไอวีกัดเด็กไม่มีเชื้อฯ จะสัมผัสน้ำลายของเด็ก ซึ่งมีเชื้อเอชไอวีอยู่น้อยมาก โอกาสเสี่ยงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเด็กที่กัดมีเลือดไหลในปาก และเด็กที่ถูกกัดก็มีบาดแผลเปิดให้เชื้อฯ เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยมากที่เด็กคนหนึ่งจะถูกกัดจนเลือดไหลไม่หยุด จึงมีโอกาสเสี่ยงน้อยมากจนถึงไม่เสี่ยงที่จะส่งผ่านเชื้อเอชไอวีได้
- เด็กไม่มีเชื้อเอชไอวีกัดเด็กมีเชื้อเอชไอวี โอกาสเสี่ยงจะเกิดขึ้น ถ้าเด็กที่กัดมีบาดแผลเปิดในปากให้เชื้อฯ เข้าสู่ร่างกาย และเด็กที่ถูกกัดมีเลือดไหล
จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2552 พบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อเอชไอวีโดยไม่ได้ป้องกัน ร้อยละ 84.20 ส่วนน้อยรับเชื้อเอชไอวีจากสาเหตุอื่น ดังนี้ จากการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดกับผู้มีเชื้อฯ ร้อยละ 4.48 จากแม่ตั้งครรภ์ที่มีเชื้อฯ ร้อยละ 3.70 รับเลือด ร้อยละ 0.02 และกลุ่มที่ไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงและอื่น ๆ ร้อยละ 7.60
ที่สำคัญคือ ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อฯ จากการอยู่ร่วมกันกับผู้มีเชื้อฯ
เอกสารอ้างอิง
- แนวทางการตรวจและการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ระดับชาติ, 2553.
- เบิกบาน (สอง): สุขกาย แนวทางการดำเนินงานกับเด็กที่มีเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้ปฏิบัติงานในชุมชน, 2551