การรักษาด้วยยาต้านไวรัสสำหรับเด็ก

ยาต้านไวรัสเป็นยาที่ช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสเอชไอวีในร่างกาย ทำให้เชื้อเอชไอวีในร่างกายไม่เพิ่มจำนวนขึ้น ไม่ไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ทำให้การทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 หรือระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ตามปกติ สามารถกำจัดและควบคุมเชื้อโรคต่างๆ หรือต้านทานต่อโรคฉวยโอกาส ลดการเจ็บป่วย

ปัจจุบันเรายังไม่มียาที่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสเอชไอวีให้หมดไปจากร่างกายได้ เป้าหมายการรักษาด้วยยาต้านฯ คือ การควบคุมเชื้อไวรัสเอชไอวีให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดและนานที่สุด

การมีเชื้อไวรัสเอชไอวีในปริมาณน้อย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกัน พัฒนาการ สมอง และอวัยวะต่างๆ ของเด็กสามารถพัฒนาต่อไป ไม่ถูกรบกวนจากเชื้อไวรัสฯ มีภาวะแทรกซ้อนและโรคฉวยโอกาสลดลง เด็กสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้เต็มที่

หัวใจสำคัญของการรักษาด้วยยาต้านฯ ของเด็ก

  1. การเตรียมความพร้อม พ่อ/แม่/ผู้ดูแล เรื่องการรักษาด้วยยาต้านฯ ของเด็ก โดยเฉพาะในเด็กทารกควรวินิจฉัยการติดเชื้อฯ ของเด็กให้เร็วที่สุด และเริ่มการรักษาด้วยยาต้านฯ
  2. การเลือกสูตรยาอย่างเหมาะสมกับสภาพร่างกาย ซึ่งเด็กแต่ละคนอาจได้สูตรยาที่เหมาะสมไม่เหมือนกัน
  3. เด็กต้องได้กินยาอย่างถูกต้อง ตรงเวลาและต่อเนื่องทุกวัน เพื่อรักษาระดับยาในเลือดให้คงที่ตลอดเวลา เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสเอชไอวี หากกินยาไม่ตรงเวลาและต่อเนื่องจะเปิดโอกาสให้เชื้อฯ ดื้อยาได้
  4. เด็กต้องได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพราะยาต้านฯ อาจมีผลข้างเคียงหรือผลกระทบต่อร่างกาย ดังนั้น จำเป็นต้องดูแลและพาเด็กไปติดตามประเมินผลการรักษาอย่างต่อเนื่องกับทีมแพทย์ผู้ให้การรักษาเด็ก
  5. ผู้ดูแลและเด็กต้องให้ความร่วมมือในการรักษา

เกณฑ์การเริ่มยาต้านไวรัสสำหรับเด็ก ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2560

เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีทุกรายควรไดด้รับยาต้านไวรัส เมื่อเด็กหรือผู้ดูแลพร้อม

กรณีที่มีความเร่งด่วนในการเริ่มยา ได้แก่

• เด็กติดเชื้อฯ ทุกรายที่อายุน้อยกว่า 1 ปี การเริ่มยาเร็วจะลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตของเด็ก

• เด็กทุกคนที่ติดเชื้อฯ และเริ่มมีอาการแสดงหรือโรคฉวยโอกาส 

• เด็กติดเชื้อฯ ที่อายุ 1 – 3 ปี ที่มีระดับเม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำกว่าร้อยละ 25 หรือน้อยกว่า 1,000

• เด็กติดเชื้อฯ ที่อายุ 3 – 5 ปี ที่มีระดับเม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำกว่าร้อยละ 25 หรือน้อยกว่า 750

• เด็กติดเชื้อฯ ช่วงอายุ 5 – 15 ปี ที่มีระดับเม็ดเลือดขาว CD4 น้อยกว่า 500  

 

ยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับเด็ก

  อายุ       อายุ < 3 ปี อายุ 3 – 12 ปี อายุ > 12 ปี
สูตรยาที่แนะนำ AZT (หรือ ABC) + 3TC + LPV/r AZT (หรือ ABC) + 3TC+ EFV TDF+ 3TC (หรือ FTC) + EFV

สูตรทางเลือก

AZT (หรือ ABC) + 3TC + NVP

– AZT (หรือ ABC) + 3TC+ NVP

– TDF+ 3TC (หรือ FTC) + EFV

– TDF+ 3TC (หรือ FTC) + EFV

– AZT (หรือ ABC) + 3TC+ EFV

– TDF+ 3TC (หรือ FTC) + RPV

 

การรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่ได้ผล และไม่ได้ผล

• การรักษาด้วยยาต้านฯ ที่ได้ผล ดูได้จาก
o เด็กกินอาหารได้ดี มีน้ำหนักตัวและความสูงเพิ่มขึ้น
o โรคฉวยโอกาสต่างๆ ลดลงหรือไม่มี หลังรักษาไปแล้ว 6 เดือน
o จำนวน CD4 เพิ่มขึ้น
o จำนวนไวรัสในเลือดลดลงหรือน้อยกว่า 50 ตัวในเลือด 1 ซีซี หลังกินยาไปแล้ว 6 เดือน
• สำหรับเด็กบางรายที่เริ่มยาต้านไวรัส เมื่อระดับ CD4 ต่ำ และมีโรคฉวยโอกาสระหว่างที่กำลังกินยา น้ำหนัก ส่วนสูงและ CD4 อาจจะยังไม่เพิ่มขึ้นในระยะแรก
• เด็กบางคนหลังกินยาต้านฯ อาจป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส เพราะตอนเริ่มยาร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่องมาก ประสิทธิภาพในการค้นหาเชื้อโรคและต่อสู้กับเชื้อฯ จะลดลงไปด้วย การติดเชื้อฯ อาจมีอยู่ก่อนกินยาต้านไวรัส ร่างกายจึงยังไม่แสดงออกมาให้ปรากฏอย่างชัดเจน เช่น เป็นไข้อย่างเดียว แต่หาสาเหตุไม่พบ เมื่อเริ่มกินยาต้านไวรัส ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มอย่างรวดเร็วและไปทำลายเชื้อโรครวมถึงเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ จึงทำให้เจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะในระยะ 6 เดือนแรกหลังกินยา ซึ่งการเจ็บป่วยในช่วงนี้มักมีอาการค่อนข้างรุนแรง เรียกว่า ไอริส (IRIS) ด้วยเหตุนี้ แพทย์จะรักษาโรคฉวยโอกาสให้ดีขึ้นก่อนจึงจะเริ่มยาต้านไวรัส ซึ่งในภาวะนี้ควรดูแลดังนี้
o สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากกินยาต้านไวรัส ได้แก่ ไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง ท้องเสียเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองโต
o มาตรวจตามนัดสม่ำเสมอ แม้ว่าก่อนกินยาต้านไวรัสได้ตรวจโรคแทรกซ้อนแล้วก็ตาม
o กินยาต้านไวรัส ยาที่รักษาและป้องกันโรคฉวยโอกาสสม่ำเสมอ
• ถ้าเกิดโรคฉวยโอกาสระหว่างที่กินยาต้านฯ ต้องไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาถึงอาการที่เกิดขึ้นและวินิจฉัยรักษาที่ถูกต้อง
• หากพบว่าการรักษาด้วยยาต้านไวรัสไม่ได้ผล เชื้อฯ ดื้อยา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินสาเหตุปัญหา และหาแนวทางแก้ไขปัญหาก่อนเริ่มรักษาด้วยยาสูตรใหม่ ทั้งนี้ ยาที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ถ้าดื้อกับยาตัวหนึ่ง มักจะดื้อกับอีกตัวอื่นด้วย หากเด็กที่ไม่ได้กินยาต้านไวรัสหรือหยุดยาต้านไวรัสก็สามารถดูแลเด็กตามปกติ โดยให้การป้องกันและดูแลโรคติดเชื้อฉวยโอกาส

 

การดูแลสุขภาพในระยะยาวสำหรับเด็กที่กินยาต้านฯ

การรักษาด้วยยาต้านฯ เป็นการรักษาที่ต่อเนื่องระยะยาว สิ่งที่ควรคำนึงในการส่งเสริมการรักษาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
• การสนับสนุนให้เด็กกินยาอย่างถูกต้อง ตรงเวลาและสม่ำเสมอ ซึ่งควรพิจารณาและติดตามเป็นรายกรณีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เด็กบางคนที่กินยาได้ดีในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถกินยาได้ดีตลอดไป เพราะเด็กอาจเกิดความเบื่อหน่าย หรือรู้สึกยุ่งยากกับการไปรับบริการการรักษา หรือเผชิญปัญหาด้านจิตใจและสังคม ไม่มีความหวัง กำลังใจในชีวิต
• ในกรณีที่เด็กรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อฯ หรือไม่รู้เรื่องการติดเชื้อฯ ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเด็กทุกคนในการร่วมมือกับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น เด็กบางคนรู้เรื่องการติดเชื้อฯ แล้ว แต่ก็ไม่กินยา เพราะไม่รู้สึกถึงคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ เป็นต้น
• สังเกตการเจริญเติบโตของเด็ก น้ำหนัก ส่วนสูงและพัฒนาการด้านต่างๆ เพราะการรักษาที่ได้ผลดี เด็กจะมีพัฒนาการและการเจริญเติบโต
• สังเกตอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้และส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว ซึ่งต้องได้รับการป้องกันและแก้ไข