กรณีเด็กทารกที่เกิดจากแม่ที่มีเชื้อเอชไอวี แนวทางการตรวจหาการติดเชื้อฯ ของเด็กในปัจจุบัน คือการตรวจพีซีอาร์ (PCR) ซึ่งเด็กจะได้รับการตรวจครั้งแรกในช่วงอายุ 1 – 2 เดือน และครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1 – 2 เดือน ถ้าผลการตรวจ PCR ครั้งแรกเป็นบวก ให้ตรวจซ้ำเร็วที่สุด ถ้าผลตรวจเป็นลบการวินิจฉัยเบื้องต้น คือ เด็กไม่มีเชื้อเอชไอวี และเด็กจะได้รับการตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้อฯ โดยตรวจหาสารภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเอชไอวี ที่เรียกว่าเอชไอวี แอนติบอดี (HIV Antibody) เมื่อเด็กอายุครบ 12 หรือ18 เดือน ถ้าผลตรวจเป็นบวกแสดงว่าเด็กมีเชื้อเอชไอวี ถ้าผลเป็นลบแสดงว่าเด็กไม่มีเชื้อฯ

เป้าหมายของการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีของเด็ก จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และการป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อเอชไอวี รวมทั้งโรคติดเชื้อฉวยโอกาสบางชนิดที่พบบ่อยในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

การตรวจหาเชื้อเอชไอวีกับการละเมิดสิทธิเด็ก

การตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีของเด็กเพื่อแยกเด็กออกจากเด็กที่ไม่มีเชื้อฯ หรือด้วยเหตุผลว่าเป็นการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการอยู่ร่วมกับเด็กที่มีเชื้อฯ นั้น ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และไม่ได้เกิดประโยชน์กับเด็ก เนื่องจากไม่มีใครมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีจากการอยู่ร่วมกันกับเด็กที่มีเชื้อเอชไอวี จึงไม่มีความจำเป็นในการแบ่งแยกเด็ก