การดูแลผู้หญิงตั้งครรภ์และการป้องกันการติดเชื้อฯ ของเด็กแรกเกิด
หญิงตั้งครรภ์ทุกคนจะต้องได้รับคำปรึกษา เพื่อข้อมูลอย่างรอบด้านในการดูแลตัวเอง วางแผนเรื่องลูก และการฝากครรภ์ เพื่อคัดกรองความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น การตรวจปัสสาวะ การตรวจนับเม็ดเลือด ความดันเลือด ฯลฯ เช่นเดียวกับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี รวมทั้ง การตรวจหาจำนวนเม็ดเลือดขาว (CD4) และคัดกรองโรคฉวยโอกาส เพื่อประเมินภาวะภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี
ที่สำคัญคือ การให้ยาต้านไวรัสแก่หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อป้องกันการติดเชื้อฯ ของทารกแรกเกิด ซึ่งมีให้บริการในทุกโรงพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
การป้องกันการติดเชื้อฯ ของเด็กแรกเกิด
1. สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่ได้รับยาต้านไวรัสมาก่อน
สูตรยาต้านฯ การเริ่มยา การดูแลหลังคลอด
สูตรแนะนำ สำหรับคนที่พร้อมรับการรักษาต่อเนื่องด้วยยาต้าน
3TC + TDF + EFV เริ่มยาเร็วที่สุดเมื่อพร้อม
สูตรทางเลือก สำหรับคนที่ยังไม่พร้อมรับการรักษาด้วยยาต้าน แต่กินยาเพื่อป้องกันลูก
3TC + TDF + LPV/r หรือ 3TC + AZT + LPV/r เริ่มยาทันที
(เร็วที่สุดเมื่อพร้อม) – หยุดยาต้านฯ หลังคลอด
2. สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่กำลังรักษาด้วยยาต้านไวรัส
ไม่ต้องหยุดยา แต่ให้ดูผลการตรวจ VL ถ้า VL มากกว่าหรือเท่ากับ 1,000 ต้องส่งต่อเพื่อปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจต้องปรับเปลี่ยนสูตรยาต้านฯ
เด็กทารกที่คลอดจากแม่ที่มีเชื้อฯ ทุกราย
– หลังคลอด จะต้องได้รับยาน้ำ AZT ขนาด 4 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 มิลลิกรัม กินทุก 12 ชั่วโมง นาน 4 สัปดาห์
– งดนมมารดา และจะได้รับสนับสนุนนมผงนาน 18 เดือน
หมายเหตุ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อฯ และเด็กที่คลอดจากแม่ที่มีเชื้อฯ ทุกราย ที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ สามารถรับยาต้านไวรัสเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อฯ ของเด็กทารก ได้จากทุกโรงพยาบาลที่อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า