ภาคประชาสังคมไทย ‘ยัน’ เจรจา FTA ต้องไม่เอายาแพง ไม่รับยูปอฟ 1991 เหตุทำลายความมั่นคงทางอาหาร พร้อมเตือนไทยจะกลายเป็นแหล่งรวมสินค้ามือ 2 ไร้คุณภาพ สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ยินดีร่วมให้ข้อมูลได้ทุกเมื่อหากทีมเจรจาต้องการ

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย พร้อมด้วยนายเฉลิมศักดิ์​ กิตติ​ตระกูล​ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ มูลนิธิชีววิถี นายไชยวัฒน์ อัศวเบ็ญจาง สภาองค์กรของผู้บริโภค กษิดิส บุญญะโสภิต สภาองค์กรของผู้บริโภค น.ส.วาสุกาญจน์ ฉิมสุข มูลนิธิชีววิถี และนายชูวิทย์ จันทรส มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว เป็นผู้แทนภาคประชาสังคมไทยที่ทำงานเรื่องการเข้าถึงยา ระบบหลักประกันสุขภาพ สิทธิเกษตรกรรายย่อย การคุ้มครองผู้บริโภค และผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าพบ น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและหัวหน้าคณะผู้เจรจาฝ่ายไทย และนายคริสตอฟ คีเนอร์ (Mr. Christophe Kiener) หัวหน้าคณะผู้เจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสียงถึงความห่วงกังวลของผลกระทบที่อาจเกิดจากความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับอียูที่กำลังเจรจาอยู่ในขณะนี้ (ระหว่างวันที่ 23 -27 มิถุนายน 2568) พร้อมกับยื่นแถลงการณ์ให้กับหัวหน้าคณะผู้เจรจาทั้งสองฝ่ายได้รับทราบ

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย

นายอภิวัตน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวก่อนเข้าพบทีมเจรจาว่า ภาคประชาสังคมมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการเจรจาในบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและระบบหลักประกันสุขภาพ อยากขอให้คณะผู้เจรจาเจรจาทั้งสองฝ่ายอย่าเจรจาให้มีบทบังคับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่เข้มงวดเกินไปกว่าความตกลงทริปส์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคายาและการเข้าถึงยาของประชาชน โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ มูลนิธิชีววิถี

น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ มูลนิธิชีววิถี หนึ่งในภาคประชาสังคมที่ร่วมเข้าพบทีมเจรจาในครั้งนี้ยังแสดงความห่วงกังวลในเรื่องอนุสัญญายูปอฟ 1991 (UPOV 1991) ซึ่งจะกระทบสิทธิของเกษตรกรรายย่อยในเรื่องการเก็บและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อ ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เป็นต้นทุนการทำเกษตรจะสูงขึ้น และจะสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

นอกจากนี้ทางภาคประชาสังคมยังพบว่ามีประเด็นอ่อนไหวใหม่ๆ ในการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปเพิ่มเติมอีกด้วย เช่น การเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่จะห้ามรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมในประเทศ การค้าดิจิทัลที่อาจส่งผลกระทบต่อกฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูล การลดภาษีศุลกากรสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรายย่อยในประเทศและสุขภาพของคนไทย

การลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร เช่น เนื้อหมูและเครื่องในสัตว์ และวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ ที่เกษตรกรและผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบในเชิงการแข่งขันและความปลอดภัยด้านสุขภาพ สินค้าที่ปรับปรุงเสมือนใหม่ที่อาจครอบคลุมถึงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เครื่องมือเครื่องจักรขนาดใหญ่ ยางรถยนต์ที่ใช้แล้ว เรือและแท่นขุดเจาะน้ำมันที่เสื่อมสภาพ และเศรษฐกิจสีเขียวที่เน้นคาร์บอนเครดิต ที่ไม่ได้ช่วยลดปัญญาก๊าซเรือนกระจกและสภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นข้อสังเกตว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นใหม่และไม่ค่อยมีการพูดถึง จึงควรมีการศึกษาผลกระทบก่อนจะลงนามความตกลงนี้ พร้อมย้ำว่านอกเหนือไปจากเนื้อหาข้อเสนอของสหภาพยุโรปที่เปิดเผยต่อสาธารณะในแต่ละครั้งแล้ว ภาคประชาสังคมยังต้องการเข้าถึงข้อมูลในเชิงรายละเอียดด้วย พร้อมทั้งยินดีหากทางทีมเจรจาต้องการข้อมูลใด ๆ เพิ่มเติมจากฝั่งประชาสังคม

หลังจากนั้น ภาคประชาสังคมไทยได้ยื่นแถลงการณ์ให้กับหัวหน้าคณะเจรจาของไทยและสหภาพยุโรป ซึ่งเนื้อหาของแถลงการณ์ได้มาจากการจัดการสัมมนา “เสียงประชาชนสู่โต๊ะเจรจา: FTA ไทย-อียู ใครได้ ใครเสีย?” เมื่อวันที่ 19 -20 มิถุนายน 2568 ซึ่งเป็นเวทีที่มีผู้เข้าร่วมในประเด็นต่างๆ เกือบ 100 คน มาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ด้านหัวหน้าคณะเจรจาทั้งสองฝ่ายรู้สึกยินดีที่ภาคประชาสังคมของไทยมีความตื่นตัวและเฝ้าติดตามการเจรจาเอฟทีเอฉบับนี้อย่างใกล้ชิด ได้รับทราบถึงความห่วงกังวลของภาคประชาสังคม และยินดีสนับสนุนการมีส่วนรวมของภาคประชาสังคม

หมายเหตุ: ขอบคุณภาพประกอบข่าวจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ