เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง LOVE+ รักไม่ติดลบ ที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เซ็นทรัล พลาซา แอร์พอร์ต เชียงใหม่ โดยภายในงานมีการเสวนา “เบื้องหลังหนัง มีชีวิต(บวก)” พูดคุยกับผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกับเอชไอวีมากว่า ๒๐ ปี และทีมผู้กำกับภาพยนตร์
นางรจนา ยี่บัว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จ.เชียงใหม่ เล่าภาพการทำงานว่า เป้าหมายการทำงานของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ คือต้องการให้คนในชุมชนเข้าใจเรื่องเอดส์ ว่าเราอยู่ร่วมกันได้ โดยให้ผู้ติดเชื้อฯ อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เพราะเดิมทีผู้ติดเชื้อฯ จะถูกรังเกียจ เช่น ไปช่วยงานในชุมชน ก็ไม่ให้ทำกับข้าว เวลาทำกิจกรรมก็ถูกมองว่าเป็นคนแพร่เชื้อฯ ทั้งที่เอชไอวีไม่ได้ติดกันง่ายๆ
ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า จากข้อมูลของกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน ๑๑ กลุ่ม ที่ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน ๑๑ โรงพยาบาล มีเด็กที่มีเชื้อฯ ที่กลุ่มได้ติดตามดูแลอยู่จำนวน ๑๓๕ คน ส่วนใหญ่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น โดยในพื้นที่ที่เขาทำงานนั้น มีเด็กที่ติดเชื้อฯ คนหนึ่งใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่วไป เรียนหนังสือ มีเพื่อน มีครอบครัวที่เข้าใจ เขาก็ดูแลตัวเอง ใช้ชีวิตปกติ กับเด็กอีกคนหนึ่งที่มีเชื้อฯ เหมือนกัน แต่เพื่อนและคนรอบข้างไม่เข้าใจ พอไปโรงเรียน ถึงเวลาจะกินยา ก็เบื่อที่ต้องเจอกับคำถามว่ากินยาอะไร หรือทำไมต้องไปโรงพยาบาลทุกเดือน ซึ่งยาที่กิน คือยาต้านไวรัส ที่ต้องกินต่อเนื่องทุกวัน เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ทำให้เขาไม่ต้องการกินยา และที่เขาไม่กล้าบอกเพื่อน เพราะกลัวเพื่อนจะรังเกียจ นี่ทำให้เห็นว่า หากมีคนรอบข้างที่เข้าใจ การใช้ชีวิตของผู้ติดเชื้อฯ ก็จะง่ายขึ้น
“ถึงแม้เราจะติดเชื้อฯ เราก็ใช้ชีวิตเหมือนคนที่ไม่ติดเชื้อฯ เพราะเราเห็นคุณค่าของตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เราต้องไม่มองว่าการมีเชื้อฯ ทำให้เราต้องลดคุณค่าของตัวเองลง พอมองข้ามได้เราจะมีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตกับครอบครัว กับชุมชน” นางรจนา เล่าถึงการติดเชื้อฯ ของตัวเอง
ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวถึงแผนการจัดกิจกรรมภายหลังจากฉายภาพยนตร์เรื่อง “LOVE+ รักไม่ติดลบ” ว่าจะนำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปสร้างความเข้าใจให้กับนักเรียนในโรงเรียน ว่าวัยรุ่นที่มีเชื้อฯ ก็มีชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่วไป เรียนได้ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ และมีความรักได้
ด้านนางลำดวน มหาวัน ผู้จัดการภาค มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (เอดส์เน็ท) สำนักงานภาคเหนือ กล่าวว่า ในการทำงานภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กโดยชุมชนนั้น เป้าหมายของการทำงานคือ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในชุมชน เช่น เด็กเร่ร่อน เด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กพิการ หรือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์ เป็นต้น โดยสร้างคณะทำงานเด็กฯ ที่มาจากหลายฝ่ายในชุมชน เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข หรือผู้นำชุมชน ซึ่งคณะทำงานนี้จะเป็นกลไกหลักในการช่วยเหลือเด็กที่รอบด้าน
“ความท้าทายในการทำงานคือ เราต้องเรียนรู้การทำงานร่วมกัน เพราะการทำงานมาจากหลายภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะภาคประชาสังคมอย่างเดียว รวมทั้งจะทำยังไงให้คนทำงานมีทัศนะบวกกับเด็กเหล่านี้ เช่น ไม่ตีตราเด็ก ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก และคำนึงถึงเรื่องละเอียดอ่อนกับเด็ก เช่น ไม่มองว่าเด็กที่มีเชื้อฯ ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ เพราะแม้คนทำงานจะห่วงเรื่องการส่งต่อเชื้อฯ ให้กับคนอื่น แต่ก็ต้องเคารพในการตัดสินใจของเด็ก ไม่ตัดสินใจแทน หรือรู้จักรักษาความลับ เป็นต้น” ผู้จัดการภาคเอดส์เน็ท กล่าว
นายปฏิภาณ บุณฑริก หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเค้าโครงเรื่องจากเรื่องจริง โดยเขาหาวิธีเล่าเรื่องให้น่าสนใจ ไม่บิดเบือนความจริง และนำเสนอในด้านบวก โดยผู้ชมนั้น จะเห็นว่าวัยรุ่นที่ติดเชื้อฯ ก็เป็นคนธรรมดา ถ้าไม่ได้บอกว่าติดเชื้อฯ ในทางกลับกัน หากผู้ติดเชื้อฯ ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ต้องการให้หาจุดตรงกลางในการใช้ชีวิต ไม่ปิดกั้นตัวเองมากจนเกินไป แต่ให้มองชีวิตในแง่บวก ไม่คิดว่าตัวเองด้อยกว่าใคร จะได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ เพียงแค่ดูแลตัวเองเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้น่าจะใกล้เคียงกับเรื่องราวของหลายๆ คน
“ทั้งหมดในหนังเรื่องนี้พูดถึงอคติ ที่คนมักมีแว่นตาอคติอยู่ ทำให้การมองคนด้วยกัน หรือเพื่อน พอมันมีอะไรบางอย่างเปลี่ยนไป ทำให้เรามองเขาเปลี่ยนไป อาจไม่ดี หรือรังเกียจกัน ไม่ใช่แค่เรื่องเอชไอวี แต่รวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งหนังเรื่องนี้จะช่วยถอดอคติ หรือแว่นตานั้นออก แต่สิ่งสำคัญคืออยากให้คนดูเปิดใจก่อน ที่จะรับฟังสิ่งที่หนังเรื่องนี้บอก” ผู้กำกับฯ กล่าว