เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2556 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ จัดงานเปิดตัวภาพยนตร์ “LOVE+ รักไม่ติดลบ” ขึ้น ที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน โดยในงานมีการเสวนา “เบื้องหลังหนัง มีชีวิต(บวก)” ด้วย
นิว เยาวชนอาสาสมัครโครงการเด็กและเยาวชน หน่วยวิจัยเซิร์ซ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า เขาเรียนจบปริญญาตรีด้านการตลาด ตอนนี้ อายุ 22 ปีแล้ว สุขภาพแข็งแรงดี ส่วนการมีเชื้อเอชไอวีของตัวเองนั้น นอกจากคนในครอบครัวแล้ว ที่ผ่านมายังไม่เคยบอกใคร
“สิ่งที่ยากลำบากมากของวัยรุ่นที่มีเชื้อ คือ เราไม่รู้ว่าเพื่อนหรือคนรอบข้างจะคิดยังไง ถ้าเขารู้ว่าเราเป็นผู้ติดเชื้อ เพื่อนยังจะคุย จะเล่น ไปเที่ยวกับเราเหมือนเดิมไหม แล้วถ้ามีแฟน แฟนจะรับเราได้ไหม ถ้าเข้าใจก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้ารับไม่ได้ แล้วเลิกกันไป เราก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น อย่างหนังเรื่อง LOVE+ สะท้อนให้เห็นส่วนหนึ่งที่วัยรุ่นอย่างเรากำลังเผชิญอยู่ เรามั่นใจว่าเรามีชีวิตไม่ต่างจากคนอื่นๆ เรียนหนังสือ เรียนจบทำงาน บางคนก็มีแฟน เราเชื่อว่าเราอยู่ด้วยกันได้ แต่คนอื่นๆ จะยอมรับและอยู่ร่วมกับเราได้หรือเปล่า” เยาวชนอาสา กล่าว
นิว ให้ความเห็นว่า ทุกคนในสังคมมีส่วนช่วยให้เยาวชนที่มีเชื้อ มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยขอให้เชื่อมั่นว่า คนที่มีเชื้อเอชไอวี ก็ใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนอื่นๆ และเอชไอวีไม่สามารถติดต่อจากการอยู่ร่วมกัน หรือแม้การมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อก็ไม่ทำให้ติดเชื้อ หากใส่ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง
นางสุดรัก ละครพล ผู้ประสานงานโครงการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การทำงานกับเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี/เอดส์มากว่า 10 ปี พบว่า สถานการณ์ปัญหาเปลี่ยนแปลงไปและซับซ้อนขึ้น เมื่อก่อนทำงานเพื่อให้เด็กได้รับการรักษา มีชีวิตรอด แต่ปัจจุบัน เด็กๆ ได้รับการดูแลรักษาที่มีมาตรฐาน และมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น พร้อมกับเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น แล้วก็พบว่าเด็กหลายคนถูกตีตราหลายเรื่อง เช่น ถูกห้ามว่าไม่ควรมีคู่ เพราะเกรงว่าจะส่งต่อเชื้อเอชไอวีไปยังคู่ได้ โดยลืมไปว่า เมื่อทุกคนเข้าสู่วัยรุ่นย่อมมีความสนใจเรื่องเพศเป็นธรรมชาติตามวัย หรือเด็กบางคนไม่ได้รับการส่งเสริมด้านการเรียนอย่างเต็มที่ เพราะผู้ดูแลบางส่วนยังไม่เชื่อว่า เด็กเติบโตมีอนาคตได้
นางสุดรัก กล่าวว่า เขาได้ยินว่าที่ทำงาน หรือที่เรียนบางแห่ง ยังบังคับตรวจเลือด ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อวัยรุ่นที่มีเชื้อเอชไอวี ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากวัยรุ่นคนอื่น เขาก็ไม่มั่นใจที่จะฝันหรือคิดถึงชีวิตในอนาคต ทั้งเรื่องชีวิตคู่ การเรียน การประกอบอาชีพ ทั้งที่จริงแล้ว เยาวชนเหล่านี้คือทรัพยากรที่สำคัญของประเทศเช่นเดียวกับคนอื่นๆ
ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า เขาตรวจเลือดและรู้ว่ามีเชื้อเอชไอวีเมื่ออายุ 21 ปี ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับเชื้อมาก่อนหน้านั้นแล้ว
“ตอนนั้น คิดอย่างเดียวว่า ต้องตายแน่ๆ ชีวิตหมดหวังแล้ว เราไม่รู้เรื่องการรักษาเลย แต่ที่เครียดและกังวลกว่าคือจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไร ญาติพี่น้องจะรับเราได้ไหม จะรังเกียจที่ต้องอยู่บ้านเดียวกันหรือไม่ มันเป็นความรู้สึกอึดอัดที่บอกไม่ถูก ตอนนั้น ด่านแรกที่ต้องผ่านให้ได้คือ ทำยังไงให้มีชีวิตอยู่ได้ก่อน ก็ต้องแสวงหาข้อมูล หาการรักษา จนเมื่อแข็งแรงดี ก็ค่อยๆ ฟื้นฟูความเชื่อมั่นว่า เราอยู่ได้ พร้อมๆ กับครอบครัวก็เรียนรู้และเข้าใจไปด้วยกัน จนวันนี้ผ่านมาจะ 20 ปีแล้ว ตอนนี้เอชไอวีไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของผมเลย ยืนยันว่าเอดส์รักษาได้จริงๆ ทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคมหรือข้าราชการ ก็ใช้สิทธิการรักษาได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย” นายอภิวัฒน์ กล่าว
ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำความเข้าใจกับสังคมเรื่องลดการตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรณรงค์ควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจเรื่องการป้องกัน และเรื่องเอดส์รักษาได้ จึงจัดทำภาพยนตร์เรื่อง “LOVE+ รักไม่ติดลบ” ขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กโดยชุมชน (CHILDLIFE) และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก (Global Fund to Fight AIDS TB and Malaria) โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากวัยรุ่นที่มีเชื้อเอชไอวี 3 เรื่องราว ผลงานของผู้กำกับ 3 คน คือ กิตติพงษ์ สอาดดี, ปฏิภาณ บุณฑริก และเสรีย์ หล้าชนบท ซึ่งเป็นอาสาสมัครที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายฯ มาอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะช่วยให้สังคมเข้าใจและเป็นส่วนหนึ่งของการลดอคติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี