เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับสถาบันเอดส์ และภาคีในจังหวัดขอนแก่น เปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง LOVE+ รักไม่ติดลบ ที่ห้องประชุมมอดินแดง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยภายในงานมีการเสวนา “เบื้องหลังหนัง มีชีวิต(บวก)” พูดคุยกับผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกับเอชไอวีมากว่า ๒๐ ปี และคนทำงานด้านเอดส์กับเยาวชน
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า เขาติดเชื้อเอชไอวีมา ๑๘ ปีแล้ว ซึ่งการใช้ชีวิตในขณะนี้ก็ไม่ต่างจากคนอื่น เช่น เขามีแฟนที่ไม่ติดเชื้อฯ ซึ่งแฟนก็รับรู้เรื่องที่มีเชื้อเอชไอวี
“เวลาที่จะมีเพศสัมพันธ์ก็ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง ซึ่งเรื่องการป้องกันเป็นเรื่องของทุกคน ทั้งคนที่มีเชื้อเอชไอวี และไม่มีเชื้อฯ และการมีเชื้อเอชไอวีของเรา ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต เราสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ มีความฝัน ความหวัง อย่างผมเองก็ทำมาหากินกับแฟน วางแผนอนาคตร่วมกัน” นายอภิวัฒน์บอก
ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีวัยรุ่นที่ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เกิดขึ้น แต่ถ้าบรรยากาศของสังคมยังไม่เข้าใจ ยังตีตราคนที่ติดเชื้อฯ ว่าเป็นคนไม่ดี เรียนหนังสือไม่ได้ เติบโตไม่ได้ มีแฟนไม่ได้ แล้ววัยรุ่นเหล่านี้จะเติบโตมาในสถานการณ์นี้อย่างไร ทั้งนี้ เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงมีแผนที่จะนำภาพยนตร์เรื่อง “LOVE+ รักไม่ติดลบ” ไปสร้างความเข้าใจให้กับนักเรียนในสถานศึกษา และชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้เรื่องเอดส์ในมิติใหม่ ที่ไม่ใช่เรื่องการเจ็บป่วย หรือเรื่องโรค แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของผู้คน ทั้งคนที่มีเชื้อฯ และไม่มีเชื้อเอชไอวีว่าเราอยู่ด้วยกันได้
ด้านนางสมใจ รัตนมณี พยาบาลชำนาญการพิเศษ หน่วยโรคเอดส์ งานบริการพยาบาล โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เล่าถึงสถานการณ์เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีว่า ขณะนี้อัตราการติดเชื้อเอชไอวีของเด็กที่ติดเชื้อเมื่อแรกเกิด มีน้อยลงมาก โดยเด็กติดเชื้อฯ ที่เขาดูแลอยู่ร้อยละ ๘๐ เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น และเมื่อเป็นวัยรุ่นก็จะประสบกับปัญหาหลายอย่าง เพราะจะมีปัญหาเรื่องสังคม จิตใจ ครอบครัว เช่น เขาเบื่อที่จะกินยาต้านไวรัส กลัวเพื่อนเห็น หรือไม่อยากถูกถามว่ากินยาหรือยัง ซึ่งปัญหาที่เด็กไม่กินยาคือเขาขาดกำลังใจ ไม่มีความหวัง
“เป้าหมายในการดูแลรักษาเด็กที่ติดเชื้อฯ คือเพื่อให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี เหมือนคนทั่วไป ได้ไปโรงเรียน ไม่ถูกรังเกียจ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ทุกคนที่เป็นแบบนี้ ยังมีเด็กที่ถูกตีตราจากเอชไอวี เราเลยไม่อยากให้สังคมมองว่าเด็กที่ติดเชื้อฯ เป็นเด็กพิเศษ ให้ลืมไปเลยว่าเขามีเชื้อฯ” นางสมใจ กล่าว
นายมานะ ลอศิริกุล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ หัวหน้างานเอดส์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ว่า ฝ่ายสาธารณสุขได้ติดตามสถานการณ์เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีมาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่การดูแลเด็กที่มีเชื้อฯ ในโรงพยาบาลระดับอำเภอมีข้อจำกัด เช่น ผู้ให้บริการคุ้นเคยกับการดูแลผู้ใหญ่ ยังไม่มั่นใจในการให้บริการดูแลเด็ก หรือยังไม่มีหมอที่ดูแลเด็กโดยเฉพาะ ตอนนี้โรงพยาบาลมีการพัฒนาระบบดูแลกลุ่มเด็กที่ดีขึ้น
“สสจ.ชวนโรงพยาบาลชุมชนเชื่อมงานกับโรงพยาบาลขอนแก่น และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพื่อให้บริการเด็กที่มีเชื้อฯ ในระดับชุมชน โดยเด็กสามารถเข้ารับบริการใกล้บ้าน ลดปัญหาเรื่องผู้ดูแลไม่มีเวลาพาเด็กเข้ามาโรงพยาบาลในเมือง ลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลชุมชนกว่าครึ่งหนึ่งเข้ามาพัฒนาระบบบริการอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เหลือนั้นก็จะเชื่อมการทำงานร่วมกันต่อไป โดยมีเป้าหมายคือเพื่อให้ทุกโรงพยาบาลชุมชนมีความพร้อมที่จะดูแลเด็กที่ติดเชื้อฯ” หัวหน้างานเอดส์ กล่าว