เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 คณะอนุกรรมาธิการติดตามความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และแรงงานของไทย ภายใต้คณะกรรมาธิการการต่างประเทศของวุฒิสภา เชิญตัวแทนของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อท์ช) มาให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ที่ไทยกำลังจะลงนามกับสมาคมการค้าเสรียุโรป (กลุ่มประเทศเอฟต้า 4 ประเทศที่ประกอบด้วยสวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) และที่ไทยกำลังเจรจากับสหภาพยุโรป

สำหรับเอฟทีเอระหว่างไทยและกลุ่มประเทศเอฟต้าที่สรุปการเจรจาไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน และประกาศที่จะลงนามในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในปลายมกราคมปีนี้ นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอว็อท์ช ให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมาธิการว่า กรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทยได้แจ้งให้ทราบว่า ไม่มีบทบัญญัติที่เป็นข้อห่วงกังวลในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและเรื่องอื่นๆ ที่จะส่งผลกระทบด้านลบต่อการเข้าถึงยา ระบบหลักประกันสุขภาพ และการคุ้มครองพันธุ์พืช รวมอยู่ในเนื้อหาการเจรจาที่สรุปไป ซึ่งไม่มีข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ หรือทริปส์พลัส เช่น การผูกขาดข้อมูลยา การขยายอายุสิทธิบัตร การขยายขอบเขตการจดสิทธิบัตร มาตรการชายแดน การจำกัดการใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ การบังคับเข้าร่วมอนุสัญญายูปอฟ 1991 การเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน

“แม้การเจรจาเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศเอฟต้าจะจบลงโดยไม่มีข้อผูกมัดที่น่ากังวลเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่มีต่อการเข้าถึงยาและเกษตรกรรายย่อยก็ตาม แต่ถ้าไทยเจรจาและยอมเซ็นเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ที่มีข้อผูกมัดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าความตกลงสากลว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือความตกลงทริปส์ ที่ไทยเป็นภาคีอยู่ ไทยจะต้องให้สิทธินั้นแก่ประเทศสมาชิกอื่นในองค์การการค้าโลกด้วย รวมถึงประเทศในกลุ่มเอฟต้า ซึ่งเป็นไปตามหลักการ “การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง” (Most Favored-Nation หรือ MFN) ขององค์การการค้าโลก ที่ประเทศสมาชิกใดให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็จะต้องให้สิทธินั้นแก่สมาชิกอื่นๆ ด้วย ดังนั้นจึงต้องติดตามต่อเนื่อง” กรรณิการ์กล่าว

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ที่ร่วมให้ข้อมูลแก่คณะอนุกรรมาธิการให้ข้อมูลว่า สหภาพยุโรปได้ยื่นข้อเสนอในการเจรจาเอฟทีเอกับไทยในมีบทบัญญัติว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์และขัดแย้งกับปฏิญญาโดฮา ที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเข้าถึงยา การสาธารณสุข และระบบหลักประกันสุขภาพ และจะทำให้ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยาสูงขึ้นนับแสนล้านบาทจากมาตรการการผูกขาดข้อมูลทางยาและการขยายอายุสิทธิบัตร”

“สหภาพยุโรปยังเสนอให้ไทยเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่จะส่งผลให้ไทยต้องยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่สนับสนุนการใช้ยาและเวชภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศ และที่ส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในประเทศ ซึ่งรวมถึงยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์  ข้อเรียกร้องจากสหภาพยุโรปในเอฟทีเอแบบนี้จะทำลายอุตสาหกรรมยาและการวิจัยและพัฒนาในประเทศ และบั่นทอนความมั่นคงทางยาของประเทศในระยะยาว สุดท้ายแล้ว ไทยต้องพึ่งพายาและเวชภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีสิทธิบัตรและมีราคาแพง”

“สหภาพยุโรปยังเรียกร้องให้ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญายูปอฟ 1991 ที่จะทำให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และอาจรวมถึงสมุนไพรของไทยที่จะนำมาวิจัยและพัฒนาเป็นยารักษาโรคด้วย นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังเสนอให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าสินค้าที่ปรับปรุงและทำเสมือนใหม่ ซึ่งรวมถึงเครื่องมือแพทย์ใช้แล้ว เข้ามาในประเทศ ที่จะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยและความแม่นยำในการวินิจฉัยและการรักษาโรค อายุการใช้งาน และภาระในการกำจัดทิ้งตามมา และยังต้องการให้ไทยลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นสินค้าที่เป็นภัยต่อสุขภาพ” เฉลิมศักดิ์กล่าว

ทั้งนีัตัวแทนของกลุ่มเอฟทีว็อท์ชได้มีข้อเสนอแนะต่อคณะอนุกรรมาธิการในเรื่องการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปดังนี้

  1. คณะเจรจาของไทยต้องเจรจาภายใต้กรอบการเจรจาที่ ครม. เห็นชอบ และไม่ยอมรับข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าความตกลงทริปส์
  2. รัฐบาลควรเร่งให้มีการศึกษาผลกระทบจากการเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต่อการเข้าถึงยาและด้านอื่นๆ รวมถึงให้มีกฎหมายเกี่ยวกับ Off-set เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเจรจาและคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศและประโยชน์ของประชาชน
  3. คณะเจรจาของไทยควรยื่นข้อเสนอให้มีบทบัญญัติต่อไปนี้ในการเจรจา
  4. การส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดเทคโนโยลีที่เป็นรูปธรรมและนำไปสู่การมีนวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
  5. การป้องกันความเหลื่อมล้ำและผลกระทบเชิงลบจากปัจจัยกำหนดสุขภาพในเชิงพาณิชย์ (commercial determinant of health) ตามข้อเสนอแนะในรายงานของ WHO และ UN เพื่อให้ผู้ก่อมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพต้องรับผิดชอบและเกิดการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ตัวแทนของเอฟทีว็อท์ชยังมีข้อเสนอต่อการเจรจาเอฟทีเอในภาพรวมทุกฉบับว่า

  1. การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ต้องมีความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมจากประชาชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  2. รัฐบาลต้องเปิดเผยเนื้อหาข้อตกลงและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในระหว่างการเจรจาและก่อนลงนาม
  3. รัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาก่อนเริ่มเจรจาและเนื้อหาข้อตกลงก่อนลงนามและให้สัตยาบัน
  4. รัฐบาลต้องให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบของข้อตกลงต่อสุขภาพ สิทธิมุนษยชน สิ่งแวดล้อม และสังคม ที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ เผยแพร่สู่สาธารณะ และนำไปใช้ประโยชน์ในการเจรจา
  5. คณะผู้แทนเจรจาต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ มากกว่าผลประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุนของกลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม
  6. รัฐบาลควรส่งเสริมให้คณะเจรจา หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และภาควิชาการ ทำงานเป็นอิสระเพื่อปกป้องประโยชน์ของประชาชนในการเจรจา โดยปราศจากการแทรกแซงและแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง
  7. ในการเจรจา คณะเจรจาต้องเจรจาโดยไม่ยอมรับข้อผูกมัด ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิทธิมุนษยชน สิ่งแวดล้อม และสังคม ให้มีมาตรการคุ้มครองหรือข้อยกเว้นที่จะปกป้องประโยชน์ของประชาชน และไม่จำกัดสิทธิและอำนาจของรัฐบาลในการออกกฎหมายหรือมีนโยบายเพื่อคุ้มครองประชาชน
  8. รัฐบาลและรัฐสภาต้องส่งเสริมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ โดยนำเนื้อหามาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาเป็นต้นแบบและพัฒนาให้รัดกุมและคำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบต่อประชาชนโดยรวมเป็นหลัก

ในตอนท้ายของการประชุม ตัวแทนของเอฟทีเอว็อท์ชสนับสนุให้ไทยให้สัตยาบันในการเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงานและเป็นหลักประกันการรับรองสิทธิลูกจ้างทั้งไทยและต่างด้าวให้จัดตั้ง รวมตัว และต่อรองกับนายจ้างได้ หรือการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ประเด็นดังกล่าวถูกเสนออยู่ในบทว่าด้วยการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ในการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ไทยจะต้องไม่ยอมรับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ และเรื่องอื่นๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา สุขภาพ ระบบหลักประกันสุขภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพ การเกษตร ความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษชน และประเด็นทางด้านสังคมอื่นๆ ด้วย

ด้านคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ได้เรียกกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์มาให้ข้อมูล และทางกรมฯ ได้ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกับที่เอฟทีเอว็อท์ชนำเสนอ โดยภายหลังจากคณะอนุกรรมาธิการฯ เรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลแล้วจะทำการรวบรวมและจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อรัฐสภาต่อไป