เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2567 เวลาประมาณ 16.00 น. องค์ภาคประชาสังคมไทยยื่นหนังสือถึงหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาของสหภาพยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป ผ่านเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนและทรัพย์สินทางปัญญาของคณะกรรมาธิการยุโรป เนื่องในโอกาสที่มาประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป รอบที่ 4 ระหว่างวันที่ 25 – 29 พ.ย. 2567 ณ โรงแรม ดิแอทธินี โฮเทล แบงค็อก ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ โดยเน้นย้ำข้อห่วงกังวลในจากการเจรจาเอฟทีไทย – สหภาพยุโรปว่า “ต้องไม่มี” มาตรการทริปส์พลัสที่มีข้อผูกมัดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเกินกว่าความตกลงขององค์การการค้าโลก เพราะจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเข้าถึงยา ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเกษตร อธิปไตยทางอาหาร และการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงข้อผูกมัดอื่นที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา แต่ส่งผลกระทบร้ายแรงในวงกว้างต่อประชาชนไทยด้วย เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การค้าสินค้าที่รวมเรื่องสินค้าปรับปรุงและทำเสมือนใหม่และสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่าแม้ว่าเนื้อหาในการเจรจาล่าสุดที่เสนอโดยสหภาพยุโรปจะแตกต่างจากข้อเสนอเดิมที่เคยเสนอก่อนการรัฐประหารของไทยในปี 2557 แต่โดยรวมแล้วสหภาพยุโรปยื่นข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินกว่า “ความตกลงทริปส์” ที่เป็นมาตรการยืดหยุ่นด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้แต่ละประเทศสมาชิกไว้ใช้ปกป้องสุขภาพของประชาชน ต้องขยับเพิ่มไปเป็น “ทริปส์พลัส” (TRIPS+) รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และสินค้าที่ปรับปรุงและทำเสมือนใหม่ไว้ในการเจรจา
หากประเทศไทยยอมรับ ไม่เพียงจะถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของประเทศขนานใหญ่ แต่ยังจะถูกห้ามไม่ให้รัฐบาลไทยออกหรือบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่เป็นการปกป้องสุขภาพและผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา การวิจัยและพัฒนาและการผลิตยาและเวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ในประเทศไทย
นับเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อระบบสาธารณสุขของไทย และส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ซึ่งจะสุ่มเสี่ยงที่จะพังทลายเพราะราคายาที่แพงเกินควรอย่างมาก และจะทำให้ผู้ป่วยในประเทศไทยไม่ได้รับบริการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ข้อผูกมัดในความตกลงการค้าเสรีเหล่านี้ส่งผลให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติไม่อาจเป็นจริงได้
นอกจากนี้สหภาพยุโรปกำลังพยายามผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย ต้องลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ปี 1991 (UPOV 1991) ผ่านการเจรจาเอฟทีเอ ทำให้ไทยจะถูกบังคับให้แก้ไขกฎหมายภายในประเทศ เพื่อเพิ่มการผูกขาดให้กับอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติและยกเลิกสิทธิในเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร ทำให้มีการขยายระยะเวลาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่จาก 12 – 17 ปี เป็น 20 – 25 ปี นับเป็นการทำลายระบบการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่มีอยู่ และสร้างผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพของเกษตรกรไทยและวัฒนธรรมการเกษตร ที่มีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อ การคัดเลือกและปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ และการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นรากฐานของการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารของประชาชน
ศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติเกี่ยวกับปัจจัยกำหนดสุขภาพในเชิงพาณิชย์ (Commercial determinants of health) แนะนำว่ารัฐบาลควรนำหลักการ “ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย” มาใช้ เพื่อแก้ไขผลกระทบเชิงลบของปัจจัยกำหนดสุขภาพในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ 4 ประเภท ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ อาหารแปรรูป และเชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ และยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการระบาดของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ทั่วโลก ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 19 ล้านรายต่อปี
ในบทว่าด้วยการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน สหภาพยุโรปควรมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันความเหลื่อมล้ำและผลกระทบเชิงลบอันเนื่องมาจากปัจจัยกำหนดสุขภาพในเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะทำให้เกิดการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยนำคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติมาใช้อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ สหภาพยุโรปไม่ควรมีบทบัญญัติที่อนุญาตให้บริษัทต่างๆ เข้ามาแทรกแซงนโยบายและมีอิทธิพลต่อรัฐบาลเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการค้ามากกว่าผลประโยชน์สาธารณะ หรือจำกัดพื้นที่นโยบายของรัฐบาลในการปกป้องประชาชนของตน
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ ยืนยันว่าไม่ว่าเอฟทีเอฉบับไหนที่สหภาพยุโรปเจรจากับประเทศกำลังพัฒนา เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นประเด็นอ่อนไหวเสมอ เพราะส่งผลกระทบวงกว้างและรุนแรง จึงเป็นประเด็นที่เจรจาหาข้อสรุปไม่ง่าย ดังนั้น ทาง 19 เครือข่ายภาคประชาสังคมไทย* เรียกร้องให้สหภาพยุโรปยกเลิกและไม่เสนอข้อผูกมัดเพิ่มเติมในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังดำเนินอยู่กับประเทศไทยที่เป็นข้อผูกมัดแบบทริปส์พลัสและที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา แต่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาที่ราคาไม่แพง การสาธารณสุข และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือกำหนดให้ประเทศไทยต้องให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา UPOV 1991 หรือจำกัดหรือลิดรอนสิทธิของรัฐบาลไทยในการออกและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน
“ขอให้สหภาพยุโรปต้องนำเรื่องทริปส์พลัสออกจากการเจรจาเอฟทีเอ รวมถึงเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาแต่ส่งกระทบร้ายแรง เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งภาคประชาสังคมจะเฝ้าติดตามการเจรจาทุกรอบอย่างใกล้ชิดต่อไปอย่างแน่นอน”
ด้าน Sylwia Czerska ผู้แทนคณะเจรจาสหภาพยุโรป รับทราบข้อห่วงกังวลตามที่ภาคประชาสังคมเสนอ แต่เห็นว่ายังเป็นการเจรจาในระยะเริ่มต้น ต้องค่อยๆ รับฟังข้อมูลและทำความเข้าใจกฎระเบียบของทั้งสองฝ่าย แต่สุดท้ายการเจรจาก็เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย
* หมายเหตุ: 19 องค์กรภาคประชาสังคม ประกอบด้วย 1) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 2) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก (ประเทศไทย) 3) มูลนิธิชีววิถี 4) กลุ่มศึกษาปัญหายา 5) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา 6) มูลนิธิบูรณะนิเวศ 7) มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย 8) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 9) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ภาคประชาชน 10) กลุ่มเพื่อนผู้ป่วยโรคไต 11) กรีนพีซ ประเทศไทย 12) Health and Development Foundation 13) สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี 14) Stop Drink Network Thailand 15) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย 16) Thai Holistic Health Foundation 17) สภาองค์กรของผู้บริโภค 18) Thailand Health Promotion Institute, National Health Foundation และ 19) ชมรมเภสัชชนบท