เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ผู้แทนผู้ประกันตนจากองค์กร/เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านเอชไอวีจาก 11 องค์กร ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ให้เร่งพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ทั้งการรักษาและการป้องกันให้เทียบเท่ากองทุนสุขภาพอื่น ณ สำนักงานประกันสังคม โดยมีนายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน ผู้แทนบอร์ดประกันสังคม และนายสุรสิทธิ์ ศรีแก้ว รองเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม เป็นผู้รับข้อเรียกร้อง
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ที่ปรึกษามูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านเอชไอวีกว่า 11 องค์กรที่มากันในครั้งนี้มีประสบการณ์และบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานยุติปัญหาด้านเอชไอวี และเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศมานาน ทำให้มองเห็นช่องว่างและความเหลื่อมล้ำของชุดสิทธิประโยชน์ทั้งการรักษาและการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคหลายด้านของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ไม่เท่าเทียมกับกองทุนสุขภาพระบบอื่นๆ ทั้งที่เป็นระบบเดียวที่ผู้ประกันตนต้องร่วมจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลร่วมกับนายจ้างและรัฐ จึงขอยื่น 5 ข้อเรียกร้องให้ประกันสังคมนำไปพิจารณา ดังนี้
ข้อเรียกร้องอันแรก เราเจอสถานการณ์ที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นผู้ประกันตนหลายคนมีความยากลำบากที่ต้องไปใช้บริการตามโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียน บางคนติดขัดเรื่องการรักษาความลับ ที่สำคัญกรณีของคนที่ต้องรับยาต้านไวรัสฯ แบบต่อเนื่องบางทีไปรับที่โรงพยาบาลประจำอำเภอไม่ได้ ต้องเข้าไปรับที่ประจำจังหวัดเท่านั้น แม้เราจะมาเรียกร้องหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากประกันสังคม เลยมาเสนออีกครั้ง ให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับบริการด้านเอชไอวี รวมถึงการรักษาไวรัสตับอักเสบซีตามมาตรฐานได้ที่หน่วยบริการของรัฐทุกแห่ง รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน และหน่วยบริการของภาคประชาสังคมที่ใดก็ได้เหมือนกับบัตรทอง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยบริการตามสิทธิเท่านั้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการ
ข้อเรียกร้องที่ 2 งานส่งเสริมป้องกันโรคที่โจทย์สำคัญตอนนี้คือ อยากให้ประกันสังคมเร่งดำเนินการให้หน่วยบริการคู่สัญญาของประกันสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการส่งเสริมสุขภาพกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามชุดสิทธิประโยชน์ที่กำหนดได้สะดวก เช่น การป้องกันเอชไอวีก่อนที่จะมีความเสี่ยง (PrEP) การป้องกันหลังจากมีความเสี่ยงแล้ว (PEP) การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (HPV DNA) การฝากครรภ์ การยุติการตั้งครรภ์ เป็นต้น
ข้อเรียกร้องที่ 3 แม้จะยื่นมาหลายครั้งเช่นกันแต่ยังไม่มีความคืบหน้า จึงมาเสนออีกรอบคือการสร้างกลไกกำกับติดตามประเมินผล และพัฒนาคุณภาพบริการ โดยให้มีประธานคณะทำงานมาจากกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตน และมีตัวแทนผู้ประกันตนจากองค์กรด้านเอชไอวีร่วมเป็นคณะทำงานด้วย เพื่อกำกับติดตามคุณภาพการให้บริการของหน่วยบริการสังกัดประกันสังคมให้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนด พร้อมทั้งช่วยสะท้อนปัญหาในมุมของผู้รับบริการด้วย
ข้อเรียกร้องที่ 4 เป็นมหากาพย์ที่ยืดเยื้อยาวนานของประกันสังคมในเรื่องสิทธิการทำฟันที่หลายคนยังเข้าใจว่ามีเพดานจำกัดการใช้สิทธิไม่เกิน 900 บาท หากเกินกว่านั้นผู้ประกันตนต้องจ่ายเอง ทั้งที่สิทธิทำฟัน 900 บาทครอบคลุม 3 อย่าง คือ บริการถอนฟัน อุดฟัน และขูดหินปูนเท่านั้น จึงอยากให้ประกันสังคมทำแนวทางออกมาให้ชัดเจนไปเลยว่าหากผู้ประกันตนมีปัญหาเรื่องสุขภาพในช่องปาก ถ้าไปรับบริการตามสิทธิที่ขึ้นทะเบียนต้องไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ถ้าไปใช้คลินิกคู่สัญญาต้องให้ประกันสังคมช่วยประสานงาน เพื่อให้ผู้ประกันตนให้ได้รับการดูแลตามมาตรฐาน
และข้อเรียกร้องที่ 5 คือ ตอนนี้รัฐบาลมีนโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” จึงอยากให้รวมคนที่ใช้สิทธิประกันสังคมด้วย เช่น การเข้าไปใช้บริการได้ที่ร้านยาคุณภาพหากมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งที่ไหนก็ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (CA Anywhere) และการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ เช่น ร้านยา คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น เป็นต้น เหมือนกับผู้ใช้สิทธิในระบบบัตรทอง ให้เป็นสิทธิมาตรฐานเดียวกัน
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ตัวแทนผู้ประกันตนจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ขอย้ำจุดยืนให้ประกันสังคมดำเนินการตาม 5 ข้อเรียกร้อง แต่ถ้าทำไม่ได้ ผู้ประกันตนต้องมีสิทธิเลือกว่าจะใช้สิทธิสุขภาพในระบบบัตรทองหรือประกันสังคม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียมกัน และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ให้เกิด ‘ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว'”
นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน ผู้แทนบอร์ดประกันสังคม เป็นผู้แทนรับข้อเสนอ พร้อมกล่าวว่า ขอรับข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อไปดำเนินการต่อและมีความยินดีที่จะรายงานความคืบหน้าของแต่ละข้อเรียกร้องให้ทราบเป็นระยะ และหวังว่าในอนาคตในทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคมทุกภาคส่วนจะเข้ามาช่วยกันให้ข้อเสนอแนะ พร้อมยืนยันว่าจะพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของประกันสังคมไม่ใช่แค่เพียงเอชไอวีแต่รวมถึงเรื่องอื่นๆ ให้ได้เทียบเท่ากับมาตรฐานของ สปสช.
สำหรับ 11 เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านเอชไอวี ประกอบด้วย เครือข่ายผู้เชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย (TNP+) คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (ACCESS) มูลนิธิเครือข่ายเยาวชนลิตเติ้ลเบิร์ด มูลนิธิแคร์แมท มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR) มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล มูลนิธิเอ็มพลัส สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) และสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (RSAT)