หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2565 มีมติเห็นชอบการประกาศกำหนดให้ “องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน” เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการด้านเอชไอวี

สอดคล้องกับเป้าหมายในการ “ยุติปัญหาเอดส์” ของประเทศที่ต้องการลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ลดการป่วยการตายจากเอชไอวี และลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกันจัดบริการได้อย่างรอบด้าน

ทั้งนี้เริ่มมีองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเอชไอวีหลายองค์กรทยอยมาขึ้นทะเบียนตามมาตรา 3 ของ สปสช. กันมากขึ้น จึงจำเป็นต้องค่อยๆ หา “จิ๊กซอว์” ขององค์กรภาคประชาสังคมด้านเอชไอวีที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้วมาเชื่อมร้อยบริการให้เป็น “เครือข่าย” ที่จะช่วยกันประสานส่งต่อให้ผู้รับบริการได้รับบริการที่ครอบคลุมมากขึ้น

คุณยุพา สุขเรือง ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย

คุณยุพา สุขเรือง ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ของศูนย์องค์รวมทั่วประเทศว่าตอนนี้มีกลุ่มศูนย์องค์รวมอยู่ทั้งหมด 204 กลุ่ม มีแกนนำผู้ติดเชื้อฯ ทั้งหมด 667 กลุ่ม มีสมาชิกที่เป็นผู้ติดเชื้อฯ 68,002 คน เป็นผู้รับบริการที่มีผลเลือดต่าง 2,604 คน มีการจัดบริการรวมทั้งหมด 70,607 ครั้ง

มีสมาชิกเข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ 57,378 คน จากผู้รับบริการทั้งหมด 58,604 คน หรือคิดเป็น 99.6% ส่วนคนที่หายไปจากระบบมีทั้งหมด 235 คน สามารถตามตัวมารับยาได้ 80 คน ตามตัวได้แต่ไม่ตัดสินใจรับยาต้านไวรัสฯ 18 คน ส่วนอีก 147 คนตามหาตัวไม่พบ โดยมีเหตุผลที่ต่างกันไป เช่น ไปทำงานต่างจังหวัด ไม่สะดวกเดินทาง มีคู่ใหม่ คิดว่าสุขภาพแข็งแรงอยู่ ไม่ป่วย ไม่อยากรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ ใช้สมุนไพรรักษา เบื่อกินยา ไม่อยากกินยาหลายตัว มีการใช้สารเสพติด มีภาวะจิตเวช ไม่มีคนดูแล ไม่มีคนพาไปรักษา เป็นต้น

เมื่อปี 2566 มีกลุ่มศูนย์องค์รวมที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตามมาตรา 3 ของ สปสช. ทั้งหมด16 กลุ่ม แบ่งเป็นภาคเหนือ 9 กลุ่ม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 กลุ่ม และภาคตะวันออกอีก 2 กลุ่ม และกำลังเตรียมขึ้นทะเบียนในปี 2567 อีกประมาณ 30 กลุ่ม

แม้ศูนย์องค์รวมจะเป็นการจัดบริการโดยภาคประชาชนแต่ทุกขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมเพื่อขอขึ้นทะเบียนกับ สปสช.มีเกณฑ์ชัดเจน โดยขั้นตอนแรก คือ การขอหนังสือรับรองกลุ่มศูนย์องค์รวมจากหน่วยงานของรัฐ เช่น การขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) หรือเป็นสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภคของสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี

ขั้นตอนที่ 2 แกนนำกลุ่มศูนย์องค์รวมต้องผ่านการอบรม 90 ชั่วโมงจากหลักสูตร “การให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์ แบบองค์รวมโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ขั้นตอนที่ 3 การให้โรงพยาบาลที่ศูนย์องค์รวมทำงานด้วยประเมินคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการของกลุ่ม ซึ่งกระบวนการนี้เป็นเรื่องภายในที่โรงพยาบาลต้องแต่งตั้งทีมประเมินผลเอง และเมื่อคะแนนผ่านเกณฑ์ ทาง ผอ.รพ.จะออกหนังสือรับรอง เป็นเอกสารยื่นขอขึ้นทะเบียนตามมาตรา 3 กับ สปสช. ซึ่งช่วยให้ผู้รับบริการเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการที่จะได้รับจากการเข้าไปใช้บริการที่กลุ่มศูนย์องค์รวม

(จากซ้ายไปขวา)คุณสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ คุณธนพล ดอกแก้ว เครือข่ายเพื่อนโรคไต และคุณสุนทราพร เกษแก้ว เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย

คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ สวิง (SWING: Service Workers in Group Foundation) องค์กรภาคประชาสังคมที่ให้บริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ปี 2565 แลกเปลี่ยนถึงแนวทางจัดบริการภายใต้ขอบเขตงานของสวิง ให้ฟังว่า “สวิง” มีกลุ่มเป้าหมายหลักในการทำงานกับเพื่อนพนักงานบริการทางเพศทั้งชายและหญิงซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี

แรกเริ่มเดิมทีการทำงานของสวิงจะเน้นลงไปให้ความรู้กับพี่น้องพนักงานบริการทางเพศในการป้องกันและดูแลตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงออกไปค้นหากลุ่มเป้าหมายเพื่อนำข้อมูลมาปักหมุดทำแผนที่ (Mapping) ว่ามีกลุ่มเป้าหมายอยู่ตรงไหนบ้าง สามารถเข้าไปทำกิจกรรมได้ในช่วงเวลาไหน แล้วจึงประสานไปยังเจ้าของบาร์เพื่อขอเข้าไปทำกิจกรรม

บทเรียนหนึ่งที่สวิงได้เรียนรู้ คือ วิธีการให้ความรู้ด้วยการลงไป “สอน” โดยตรงไม่ค่อยได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายเท่าที่ควร ไม่เกิดประโยชน์ในแง่ของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สวิงจึงใช้วิธีการให้ความรู้ที่เอาความสนุกนำ หรือ Edutainment เอาเกมไปเล่น ชวนคุยให้เขาเปิดใจรับการเรียนรู้

สมัยก่อนหากพี่น้องของเราต้องการตรวจเอชไอวี สวิงจะมี “ทีมแคร์” พาไปตรวจ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับบริการที่ดี แต่ปัญหาที่พบคือหน่วยบริการของรัฐเปิด-ปิดตามเวลาราชการ ซึ่งเป็นเวลานอนของคนทำงาน เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษา ดังนั้นสวิงจึงคิดว่าต้องมีคลินิกที่ให้บริการได้สอดคล้องกับวิถีของผู้รับบริการ นำมาสู่การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดบริการด้านสุขภาพ มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นพี่น้องคนขายบริการที่พูดคุยสื่อสารระดับเดียวกันคอยให้บริการและคำปรึกษา โดยคลินิกเริ่มทำการตั้งแต่ 11 โมงถึง1 ทุ่ม ซึ่งมีคนมารับบริการมากขึ้น

ทีมแคร์ของสวิงจะทำหน้าที่เหมือนญาติช่วยดูแลเรื่องการรักษา ทำเรื่องย้ายสิทธิการรักษาให้กับพี่น้อง แต่ปัญหาที่พบคือ เพื่อนบางคนรู้ผลเลือดแล้วหายไปจากระบบ เข้าไม่ถึงการรักษาสุดท้ายเสียชีวิตไปก็มี ต่อมาคลินิกจึงเพิ่มบริการให้คนที่มีความเสี่ยงสามารถขอรับการตรวจเลือดใช้เวลา 45 นาทีรู้ผล ถ้าผลเลือดเป็นบวกจะจ่ายยาต้านไวรัสฯ ให้โดยให้ผู้รับบริการปรึกษาหมอผ่านระบบเทเลเมด นอกจากนี้ในคลินิกยังมีเครื่องตรวจซีดี 4 เครื่องตรวจไวรัลโหลด รวมไปถึงการจ่ายยยาเพร็พด้วย

ส่วนการกินยา การติดตามผล แจ้งเตือนการนัดหมายเวลาให้ผู้รับบริการต้องไปตรวจแล็ปครั้งใหญ่ที่โรงพยาบาลจะมีทีมแคร์ช่วยลงติดตาม เมื่อคนเก่าแข็งแรง สามารถดูแลจัดการตัวเองได้แล้ว ทีมแคร์ก็จะมาย้ายไปดูแลคนใหม่ ส่วนคนเก่าบางคนก็ช่วยดูแลกันเองในกลุ่มไลน์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อติดตามกันภายใน

นอกจากนี้สวิงยังได้ประสานงานร่วมกับโรงพยาบาล เช่น ที่โรงพยาบาลบางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อขอดูแลพี่น้องที่มีประวัติการกินยาดี กดเชื้อได้ในระดับดีให้มารับยาที่สวิงโดยตรง โดยสวิงจะทำการเบิกจ่ายยาจากโรงพยาบาลแทนพี่น้องเครือข่าย พอถึงวันนัดรับยาก็มาที่สวิงได้เลยไม่ต้องไปรอคิวที่โรงพยาบาล เว้นแต่มีนัดไปตรวจแล็บใหญ่ก็ให้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลเหมือนเดิม

ตอนนี้สวิงมีการจัดบริการสุขภาพโดยชุมชนที่ให้บริการได้แบบเบ็ดเสร็จที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ครอบคลุม 11 จังหวัดทั่วประเทศ แต่จังหวัดอื่นที่ไม่มีทำได้แค่ค้นหาและพาไปตรวจ หากพบว่าติดเชื้อก็เข้าสู่กระบวนการรักษาตามแต่ละระบบ จึงเป็นความท้าทายว่าทีมแคร์ของสวิงกับแกนนำจากศูนย์องค์รวม “เราจะเชื่อมกันอย่างไร” ให้กลุ่มเป้าหมายของแต่ละส่วนได้รับการดูแล สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ได้ตามมาตรฐาน และมีระบบติดตามผู้รับบริการให้กินยาได้แบบต่อเนื่อง

ในส่วนของบริการปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม สายด่วน 1663 ซึ่งบอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบให้เป็นหน่วยบริการปรึกษาทางเลือกเพิ่มเติม สำหรับการให้คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 อยู่ภายใต้การบริหารของ “มูลนิธิเข้าถึงเอดส์” เริ่มดำเนินงานให้คำปรึกษาเรื่องโรคเอดส์ ตั้งแต่ปี 2534 และได้เพิ่มบริการให้คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมในปี 2556 โดยสายด่วน 1663 ทำหน้าที่เป็นหน่วยแรกรับให้ผู้ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาด้านการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เพื่อช่วยลดอัตรากรณีท้องไม่พร้อมรายใหม่ หรือการท้องไม่พร้อมซ้ำ ทั้งเป็นการช่วยลดอัตราการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย รวมทั้งช่วยประสานส่งต่อผู้รับบริการไปยังหน่วยบริการต่างๆ ทั้งบริการด้านการแพทย์และด้านสวัสดิการสังคม ตลอดจนติดตามผลหลังจากส่งต่อไปรับบริการแล้ว

คุณสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เผยข้อมูลของผู้เข้ามาขอรับบริการปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ผ่านสายด่วน 1663 ระหว่างเดือนสิงหาคม 2566 – กรกฎาคม 2567 ว่ามีผู้ที่โทรปรึกษาเรื่องเอดส์ 8,023 ราย มีการทราบผลเลือดว่าติดเชื้อฯ 834 ราย คือเป็น 10.4% ของผู้ที่มาปรึกษาเรื่องเอดส์ทั้งหมด ซึ่งในจำนวนผู้ที่โทรมาแล้วกังวลว่าตัวเองจะมีโอกาสในการรับเชื้อมีทั้งหมด 7,189 ราย เป็นความเสี่ยงจริง 30.8%  มีผู้ที่เสี่ยงจริงแล้วตัดสินใจตรวจเลือด 74.2%

คนที่โทรมาปรึกษาที่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อแล้วไม่ได้กินยาต้านไวรัสฯ มี 30.1% โดยให้เหตุผลยังไม่เข้าสู่ระบบรักษา 62% อยู่ระหว่างการคัดกรอง 29.9% ไม่สมัครใจที่จะกิน 2.2% สมัครใจกินยาแต่ยังไม่ได้ยา 0.7% และตัดสินใจหยุดยา 5.2%

สำหรับการให้บริการผู้หญิงที่ได้รับการส่งต่อเพื่อไปยุติการตั้งครรภ์ที่ติดตามผลจาก IHRI จำนวน 317 ราย ได้รับชุดตรวจ HIV Self Test 250 ราย คิดเป็น 78.9% ใน 250 รายที่รับชุดตรวจไปแล้วนั้น มีการส่งชุดตรวจกลับมา 139 ราย คิดเป็น 55.6% พบการติดเชื้อเอชไอวี 1 คน ซึ่งเข้าสู่กระบวนการรักษาและได้รับยาต้านไวรัสฯ เรียบร้อยแล้ว

ตอนนี้สายด่วน 1663 มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายหน่วยบริการที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย 79 แห่งทั่วประเทศ ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้ผู้หญิงที่มารับบริการยุติการตั้งครรภ์ได้ประเมินความเสี่ยงด้านเอชไอวีตัวเองของตัวเอง จึงมีความเห็นว่าศูนย์องค์รวมกลุ่มใดที่ให้บริการอยู่ในหน่วยบริการ 79 แห่งที่เป็นเครือข่ายของ 1663 อยากให้ช่วยเข้าทำงานกับคลินิกยุติการตั้งครรภ์ด้วย

เราจะเห็นได้ว่าภาคประชาสังคมด้านเอชไอวีอย่างน้อยๆ 3 เครือข่ายจะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 ของ สปสช. ได้แล้ว แต่ศักยภาพในการทำงานยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด อาจไม่เพียงพอในการดูแลผู้ติดเชื้อฯ ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้เกิดช่องว่างต่อการจัดบริการ เช่น ผู้ติดเชื้อรายใหม่บางคนยังเข้าไม่ถึงการรักษา รายเก่าเริ่มหายไปจากระบบ บางคนตัดสินใจหยุดยาต้านไวรัสฯ เอง

ดังนั้น การประสานความร่วมมือกันเป็น “เครือข่ายภาคประชาสังคม” ที่ให้บริการด้านเอชไอวีอย่างครบวงจร ตั้งแต่การให้คนประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อฯ ของตนเอง การเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐาน การให้ผู้ติดชื้อฯ อยู่ในระบบการรักษาที่ต่อเนื่อง ไปจนถึงการทำให้ผู้ติดเชื้อฯ เคารพในคุณค่าของตนเอง จึงเป็นความท้าทายหนึ่งที่จะต้องหา “กลไกกลาง” มาทำหน้าที่ประสานงานของภาคประชาสังคมให้เป็นระบบการส่งต่อที่เชื่อมโยงเข้าหากันอย่างไร้รอยต่อ

อ้างอิงข้อมูล
1. ประชุมสรุปผลการทำงานของศูนย์องค์รวมและทิศทางการพัฒนางานเครือข่ายฯ วันที่ 7 – 8 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมทีเค พาเลซ กทม.
2. เพิ่ม “องค์กรประชาสังคมด้าน HIV” เป็นสถานบริการสาธารณสุขในระบบบัตรทอง https://www.nhso.go.th/news/3635
3. บอร์ด สปสช. อนุมัติ “สายด่วนท้องไม่พร้อม 1663” เป็นหน่วยบริการระบบบัตรทอง https://www.nhso.go.th/news/4534