เป็นระยะเวลามากกว่า 6 เดือนแล้วที่ศูนย์องค์รวมทั้ง 16 แห่งที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นฯ ซึ่งเป็นเป็นห้วงเวลาที่ไม่เพียงจะได้ทบทวนการทำงานที่ผ่านมาของศูนย์องค์รวมแล้ว ยังทำให้แกนนำได้วิเคราะห์ทางเดินไปข้างหน้าของการพัฒนางานศูนย์องค์รวมในเชิงคุณภาพอีกด้วย

ทั้งนี้ รศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เข้ามาช่วยมองความท้าทายของงานศูนย์องค์รวมไว้อย่างน่าสนใจใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ…

ประเด็นที่ 1 การให้บริการที่ผ่านมาจะเห็นว่า “งานศูนย์องค์รวม” ไม่ได้ดูแลเฉพาะผู้ติดเชื้อฯ ที่เข้ารับบริการในคลินิกยาต้านฯ เท่านั้น แต่คน 1 คนยังเจอสถานการณ์ด้านสุขภาพอื่นๆ อีก เช่น โรคร่วมอย่างความดัน เบาหวาน ไขมัน ไต การฝากครรภ์ รวมไปถึงจิตเวชซึ่งพบว่าศูนย์องค์รวมจะเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับผู้รับบริการก่อนส่งไปยังแผนกอื่น และยังมีบทบาทช่วยประสานงานระหว่างแผนกหากพบว่ามีผู้รับบริการบางกลุ่มไม่สะดวกใจในการไปรับบริการนอกคลินิกยาต้านฯ ดังนั้นศูนย์องค์รวมต้องตั้งเป้าหมายและทำแผนอย่างจริงจังว่าจะเอางานของตัวเองไปเกี่ยวข้องกับแผนกอื่นๆ ในโรงพยาบาลอีกกี่แผนกถึงจะสามารถดูแลสมาชิกกลุ่มไม่ให้หายไปจากระบบการรักษา

ประเด็นที่ 2 งานของศูนย์องค์รวมเป็นการให้บริการตามกระบวนการทำงานด้านเอชไอวีเพื่อยุติปัญหาเอดส์ตามหลัก RRTTR ในด้าน Retain คือ การให้ผู้รับบริการคงอยู่ในระบบ ด้วยการดูแลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านฯ อย่างต่อเนื่อง ส่วนคนที่มีผลเลือดเป็นลบก็ต้องรักษาผลเลือดให้เป็นลบไปตลอด แต่จากบทบาทการทำงานที่ผ่านมาทำให้เห็นว่ากลุ่มศูนย์องค์รวมหลายกลุ่มเจอสถานการณ์ที่หลากหลายขึ้น ทั้งผู้รับบริการเข้าถึงเพร็พมากขึ้น หรือผู้ติดเชื้อฯ ที่ทานยาดีหลายคนตัดสินใจไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับคู่ แต่ในขณะเดียวกันเราก็พบว่าเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ดังนั้นศูนย์องค์รวมอาจต้องคิดถึงการขยายงานไปอยู่ในกระบวน R (Reach: การเข้าถึงทั้งข้อมูลและชุดบริการ) และ R (Recruit: การให้บริการให้คำปรึกษาก่อนการเจาะเลือดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและการคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) เป็นการทำงานในระดับชุมชนและขยายเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นงานเชิงรุกให้คนได้ประเมินความเสี่ยงและเข้าสู่การตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวี

ประเด็นที่ 3 ศูนย์องค์รวมยังคงเจอสถานการณ์ที่ผู้รับบริการรายใหม่เข้าถึงการรักษาช้า หรือป่วยแล้วถึงมารักษา จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจว่า “เอชไอวีเป็นเรื่องของทุกคน” เพื่อให้คนได้ประเมินความเสี่ยงของตัวเอง ไม่ตีตราตัวเอง และตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการตรวจเลือดด้วยความสมัครใจ โดยทำกิจกรรมเชิงรุกในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกันศูนย์องค์รวมก็ต้องทำให้ผู้รับบริการรู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นใจกับระบบการรักษาด้วย เช่น การทำให้นโยบาย Same Day ART หรือนโยบายตรวจเลือด รู้ผล เริ่มยาในวันเดียว ทำได้จริง โดยไม่ต้องให้ผู้รับบริการมารอรับบริการในวันอื่นๆ อีก เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะหายไปจากระบบการรักษา เป็นต้น

ความท้าทายในประเด็นสุดท้าย คือ การยกระดับงานศูนย์องค์รวมให้เป็น “หน่วยบริการภาคประชาชนในระดับอำเภอ” โดยบูรณาการบริการอื่นๆ ที่จะดูแลคนในชุมชนมากกว่าเรื่องเอชไอวี กล่าวคือ หากมีการพูดถึงประเด็นสุขภาพชุมชนต้องมีงานศูนย์องค์รวมอยู่ในนั้น เพราะบทบาทของแกนนำทำเรื่องอื่นๆ มากกว่าเอชไอวี เช่น การลงไปให้ความรู้กับประชาชน การทำงานร่วมกับชุมชน การประสานส่งต่อความช่วยเหลือตามสถานการณ์ เป็นต้น

“งานศูนย์องค์รวม” จึงต้องยกระดับตัวเองให้เป็นหน่วยบริการภาคประชาชนที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็งในด้านสุขภาพของชุมชนเชิงประจักษ์และเป็นรูปธรรม