ย้อนไปเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา แกนนำกลุ่มศูนย์องค์รวม 13 กลุ่มจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ประเดิมยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อยื่นขอขึ้นทะเบียนเข้าร่วมเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น (หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวี) ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่เห็นชอบให้มีการประกาศกำหนดให้ “องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน” เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
.
กชพรรณ วังฐาน ผู้แทนจากแกนนำกลุ่มศูนย์องค์รวมกล่าวว่า #ศูนย์องค์รวม เป็นการพลิกบทบาทจาก “ผู้รับบริการ” ของกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ มาเป็น “ผู้ร่วมจัดบริการ” ที่ทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ซึ่งเป็นรูปธรรมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ครอบคลุมทั้งด้านกาย ใจ และสังคมอย่างต่อเนื่อง ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การส่งเสริมให้คนเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ อย่างต่อเนื่อง การเยี่ยมบ้าน การพบกลุ่มประจำเดือน และการให้คำปรึกษา มาตั้งแต่ปี 2546
.
เมื่อ บอร์ด สปสช. ออกประกาศให้องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยจึงยกระดับการทำงานของศูนย์องค์รวมตามแนวมาตรฐานที่ สปสช. กำหนด เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพเกิดความยั่งยืนและมีการทำงานที่ต่อเนื่อง
.
แต่กว่าที่กลุ่มศูนย์องค์รวมทั้ง 13 กลุ่มจากทั่วประเทศจะมายื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนตามมาตรา 3 ของ สปสช. ในครั้งนี้ได้ กชพรรณเล่าว่าต้องใช้เวลาเตรียมการอยู่พอสมควร เริ่มตั้งแต่การขอหนังสือรับรองกลุ่มศูนย์องค์รวมจากหน่วยงานของรัฐก่อน เช่น การขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ของ พมจ. หรือเป็นสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภคของสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี เป็นต้น นั่นหมายความว่ากลุ่มเราต้องมีผลการทำงานเชิงประจักษ์มาพอสมควรและต้องมีความเป็นกลุ่มที่ชัดเจนจึงจะถูกรับรอง
.
ในขณะที่แกนนำก็ต้องผ่านการอบรม 90 ชั่วโมงจากหลักสูตร “การให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์ แบบองค์รวมโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” ที่ได้รับการรับรองจากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยแบ่งเป็นภาคทฤษฎีที่เติมข้อมูลและทำข้อสอบอย่างเข้มข้น 45 ชั่วโมง ใครสอบไม่ผ่านเกณฑ์ถึง 2 ครั้งคือไม่ได้ไปต่อในภาคปฏิบัติ ส่วนอีก 45 ชั่วโมง ต้องไปฝึกดูแลและติดตามผู้ติดเชื้อฯ และคู่ผลเลือดต่างที่มารับบริการในโรงพยาบาลที่มีคลินิกยาต้านไวรัสฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลประจำที่แกนนำแต่ละคนทำงานเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่รอบนี้จะมีเจ้าหน้าที่ในคลินิกที่เราเรียกติดปากว่า “พี่เลี้ยง” มาช่วยเป็นทีมประเมินและให้คะแนน หากผ่านเกณฑ์ทั้งหมดจึงจะได้ใบประกาศนียบัตรหลักสูตรรับรองคุณภาพการทำงานของแกนนำ
.
ส่วนอีกหนึ่งกระบวนที่กชพรรณมองว่าจะพิสูจน์การทำงานของกลุ่มศูนย์องค์รวมกับหน่วยให้บริการว่าไปด้วยกันได้ดีแค่ไหน หรือรู้จักการทำงานของศูนย์องค์รวมมากน้อยขนาดไหน คือการให้หน่วยบริการทำการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการของกลุ่มศูนย์องค์รวม ซึ่งกระบวนการนี้เป็นเรื่องภายในที่หน่วยบริการแต่ละแห่งต้องแต่งตั้งทีมมาประเมินขึ้นมาเอง
.
เช่น ที่กลุ่มศูนย์องค์รวมใจประสานใจ โรงพยาบาลพาน จ.เชียงราย ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะออกหนังสือแต่งตั้งทีมประเมินผลอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วยแพทย์ เภสัชกร และหัวหน้าฝ่ายงานเอชไอวีมาช่วยให้คะแนนคุณภาพการทำงานของศูนย์องค์รวม เช่น ประเมินแผนการดูแลและติดตามผู้ติดเชื้อฯ ให้อยู่ในระบบ การบริหารจัดการองค์กรที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นต้น และเมื่อคะแนนผ่านเกณฑ์ประเมิน ทาง ผอ.รพ.จะออกหนังสือรับรอง เพื่อให้กลุ่มใช้เป็นเอกสารประกอบการขอขึ้นทะเบียนตามมาตรา 3 กับ สปสช.
.
“แน่นอนว่าถ้าศูนย์องค์รวมไหนไม่เคยทำให้โรงพยาบาลรู้จักการทำงานของเราอย่างดีพอ ผู้ประเมินก็จะไม่สามารถให้คะแนนอะไรได้เลย”
.
อยากเล่าให้เห็นภาพว่าแม้ศูนย์องค์รวมจะเป็นการจัดบริการโดยภาคประชาชนเป็นหลัก แต่ในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงานถูกกำกับและติดตามอย่างมีมาตรฐานตามวิชาชีพและมีเกณฑ์ในการประเมินผลที่ชัดเจน ซึ่งช่วยให้ผู้รับบริการเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการที่จะได้รับจากศูนย์องค์รวม
.
ถ้าถามว่าผู้รับบริการจะได้รับอะไรจากการที่ศูนย์องค์รวมขึ้นทะเบียนตามมาตรา 3 กชพรรณบอกว่า จริงๆ งานศูนย์องค์รวมก็ไม่ได้เป็นงานใหม่ของผู้ติดเชื้อฯ เราทำแบบนี้มาตลอดเพียงแต่การขึ้นทะเบียนตามมาตรา 3 จะทำให้งานมีความต่อเนื่องมากกว่าทำเป็นโครงการและทำให้เราสามารถทำงานที่เน้นคุณภาพมากขึ้น เช่น การวางแผนนัดประชุมกับทีมพี่เลี้ยงทุกเดือน เพื่อประเมินปัญหาของผู้รับบริการที่ทำให้ศูนย์องค์รวมสามารถออกแบบการให้บริการได้สอดคล้องกับปัญหาของแต่ละเคส การติดตามผู้ติดเชื้อฯ ที่หายไปจากระบบการรักษาให้กลับเข้ามารักษาใหม่ การหนุนเสริมภายในจิตใจของผู้ติดเชื้อฯ เพื่อไม่ให้เกิดการตีตราและลดคุณค่าภายในตัวเอง รวมถึงการทำงานป้องกันเชิงรุกร่วมกับท้องถิ่น เป็นต้น
.
ยิ่งในอนาคตสถานการณ์ด้านเอชไอวีก็จะยิ่งมีความท้าทายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อฯ ที่เข้าสู่ภาวะสูงวัยทำให้อาจป่วยเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมามากมาย เช่น ไต ความดัน เบาหวาน ฯลฯ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อฯ ที่ป่วยด้วยโรคไตจะยิ่งพบว่าโรงพยาบาลหลายแห่งเลือกที่จะไม่ฟอกเลือดให้ด้วยเครื่องไตเทียม จึงเป็นประเด็นที่ศูนย์องค์รวมต้องทำหน้าที่รวบรวมสถานการณ์เพื่อพัฒนาข้อเสนอให้เกิดความชัดเจนในเชิงนโยบาย รวมไปถึงการทำงานเชิงป้องกันกับชุมชนที่ต้องจริงจังด้วยเช่นกัน
.
ดังนั้นการขึ้นทะเบียนกลุ่มศูนย์องค์รวมให้เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวีในครั้งนี้จึงคาดว่าจะช่วยให้กลุ่มศูนย์องค์รวมสามารถวางแผนการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อฯ ที่เหมาะสมได้ในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง” แกนนำกลุ่มศูนย์องค์รวมกล่าว
.
ด้าน รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เป็นผู้รับหนังสือจากแกนนำศูนย์องค์รวมทั้ง 13 กลุ่ม กล่าวกับสำนักข่าว The coverage ว่า “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เดินไปอีกก้าวหนึ่งในการขยายเครือข่ายหน่วยบริการระบบบัตรทอง 30 บาท เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง ซึ่งศูนย์องค์รวมฯ สปสช. ได้สนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหนุนเสริมโรงพยาบาลในการดูแลผู้ติดเชื้อฯ ทั้งการติดตามการรักษาต่อเนื่อง การเยี่ยมบ้าน เป็นต้น และด้วยศักยภาพการเข้าถึงการดูแลผู้ติดเชื้อฯ ได้อย่างมีประสิทธิผลนี้ จึงนำมาสู่การเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองในที่สุด”
.