“โรคซิฟิลิส” เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Treponema pallidum) สามารถติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ทางเลือด หญิงตั้งครรภ์สู่ทารกโดยส่งผ่านทางรกและขณะคลอด

ซิฟิลิสสามารถแบ่งเป็นระยะดังนี้ ซิฟิลิสระยะที่ 1 หลังได้รับเชื้อประมาณ 10 – 90 วัน จึงจะแสดงอาการ เช่น มีแผลที่อวัยวะเพศ ลักษณะเป็นแผลขอบนูนแข็ง ไม่เจ็บ พื้นแผลเรียบ (แผลริมแข็ง) ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีโตทั้ง 2 ข้าง อาการหายได้เองใน 3-8 สัปดาห์ จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจว่าหายแล้ว ไม่มารับการตรวจวินิจฉัย/รักษา

ซิฟิลิสระยะที่ 2 เกิดหลังจากระยะที่ 1 ประมาณ 3-12 สัปดาห์ บางรายอาจจะนานเป็นเวลาหลายเดือน อาการ มีไข้ เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ อาจมีผมร่วงเป็นหย่อม ๆ อาการหายได้เอง อาจพบผื่นเป็นๆ หายๆ ได้ในช่วงปีแรก

ซิฟิลิสระยะแฝง จะไม่มีอาการ และเป็นระยะที่มีเวลายาวนานหลายปี ในระยะนี้จะไม่ถ่ายทอดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แต่ถ่ายทอดเชื้อได้ทางเลือด และในหญิงตั้งครรภ์ไปยังทารก

ซิฟิลิสระยะที่ 3 พบหลังจากระยะที่ 1 ประมาณ 3-10 ปี หรืออาจช้ากว่านี้ อาการจะมีรอยโรคที่ผิวหนัง เยื่อบุต่างๆ กระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อ ตับ ม้าม มีการทำลายระบบประสาท ระบบหัวใจ หลอดเลือดและอวัยวะอื่น ๆ

ปล.ซิฟิลิสแต่กำเนิดในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นซิฟิลิส ถ้าไม่ได้รับการรักษา สามารถถ่ายทอดเชื้อไปยังทารกได้ ทำให้เด็กเป็นซิฟิลิสแต่กำเนิด อาจทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดน้อย ตับโต ม้ามโต กระดูกผิดรูป มีปัญหาด้านพัฒนาการ ฯลฯ

มาตรฐานการรักษาและสิทธิประโยชน์เรื่องซิฟิลิสในผู้ติดเชื้อเอชไอวี
1. ผู้ติดเชื้อฯ ที่ทราบผลการติดเชื้อครั้งแรกทุกราย จะได้รับการตรวจเลือดคัดกรองซิฟิสิส (VDRL) 1 ครั้ง
2. ผู้ติดเชื้อฯ ที่มีข้อบ่งชี้ เช่น มีอาการของโรค จะได้รับการตรวจซ้ำ คนที่ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงจะได้รับการตรวจเลือดคัดกรองซิฟิลิส ทุก 3-6 เดือน
3. หากพบการติดเชื้อซิฟิลิส จะได้รับการรักษาตามแนวทางของกระทรวงฯ และคู่ที่ไม่ได้ป้องกันจะได้รับการตรวจคัดกรองด้วย
4. การส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เช่น บริการถุงยางอนามัย