“เดลามานิด” (Delamanid) เป็นยาชื่อสามัญที่ใช้รักษาผู้ป่วยวัณโรคที่ดื้อต่อยารักษาวัณโรคหลายขนาน โดยบริษัทยาโอซุกะของญี่ปุ่นได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรสำหรับยาชนิดดังกล่าวอยู่ 4 ฉบับ โดยหนึ่งในนั้นได้รับสิทธิบัตรคุ้มครองเรื่องสารประกอบทางเคมี (สารวัตถุดิบตัวยาที่ทำมาผลิตยา) และสิทธิบัตรกำลังจะหมดอายุในเดือนตุลาคม 2566 ในขณะที่สิทธิบัตรอีกสองฉบับถูกละทิ้งไปเมื่อเดือนมีนาคม 2565 (ไม่ดำเนินการพิจารณาให้สิทธิบัตรต่อ) เพราะไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิบัตรในไทย

เมื่อสิทธิบัตรหลักของยาชื่อสามัญเดลามานิดกำลังจะหมดอายุในไทยปีนี้ ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงได้ส่งจดหมายและข้อมูลให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ทางกรมฯ ปฏิเสธที่จะให้สิทธิบัตรแก่คำขอฯ ของยาชนิดดังกล่าว เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการคุ้มครอง ที่สำคัญหากยาไม่มีสิทธิบัตรจะทำให้ประเทศไทยสามารถนำเข้าหรือผลิตเดลามานิดรุ่นทั่วไปในประเทศได้ในราคาที่ถูกลงได้

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ให้ความเห็นว่าแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคเชื้อดื้อยาชุกเท่าประเทศอื่น และปัจจุบันไทยก็มียารักษาวัณโรคดื้อยาอีกชนิดที่มีชื่อว่า “เบดาคิวไลน์” (Bedaquiline) สำหรับผู้ป่วยในโครงการพิเศษของกรมควบคุมโรคแล้ว แต่การมียาเดลามานิดในระบบจะช่วยให้แพทย์มีทางเลือกในการใช้ยา และช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งไม่ได้มีผลแค่การประหยัดงบประมาณด้านการรักษาเท่านั้น แต่ยังช่วยควบคุมและลดการแพร่ระบาดของวัณโรคที่เป็นเชื้อดื้อยาอีกด้วย
.
ที่มาข่าว:

Being ahead of the curve: access to Delamanid in Thailand


อ้างอิงรูปยา https://otsuka.co.id/products/deltyba