จี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้แจงเหตุพิจารณาคำคัดค้านขอสิทธิบัตรล่าช้ากว่า ๓ ปี กระทบผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา แถมฐานข้อมูลมั่ว ภาคประชาสังคมเร่งแก้ไขทันที
จากกรณีที่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ได้ยื่นคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอชไอวี และยารักษาไวรัสตับอักเสบซีต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญามาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๘ แต่กรมฯ ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จนั้น
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ ได้ยื่นคัดค้านคำขอสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอชไอวี และยารักษาไวรัสตับอักเสบซีตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๘ จนเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว แต่กรมฯ ก็ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ และไม่มีความชัดเจนว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ ซึ่งมีผลอย่างยิ่งว่า ถ้าไม่รีบตรวจสอบหรือชี้ไปในทางใดทางหนึ่ง ผู้ยื่นขอสิทธิบัตรสามารถอ้างได้แล้วว่ายาตัวนี้ได้สิทธิบัตรตามกฎหมายนับแต่วันที่ยื่นคำขอ หากกรมฯ พิจารณาว่าไม่มีสิทธิ บริษัทยาอื่นก็จะได้เริ่มผลิตยา ทำให้เกิดการแข่งขัน และราคายาก็จะถูกลง ระบบหลักประกันสุขภาพจะสามารถต่อรองราคายาได้มากขึ้น ถ้าไม่มีการผูกขาด โดยใช้จ่ายงบประมาณในจำนวนเท่าเดิม แต่จะเพิ่มจำนวนเม็ดยา จำนวนผู้ป่วยให้เข้าถึงยาได้มากขึ้น
“ทรัพย์สินทางปัญญาไม่ควรเป็นเครื่องมือในการผูกขาด จนเป็นเหตุให้คนเข้าถึงยาไม่ได้ ทั้งที่มีความจำเป็น การยื่นคัดค้านคำขอสิทธิบัตรจำนวน ๕ ฉบับของมูลนิธิฯ เพราะเรามีข้อมูลเชื่อได้ว่าคำขอทั้ง ๕ ฉบับนี้ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับสิทธิบัตร เช่น ยาไม่ใหม่จริง หรือนำยาเก่ามารวมเม็ดใหม่ จนทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา ทั้งยาต้านไวรัสเอชไอวี และยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งการมีสิทธิบัตรจะทำให้ยามีราคาแพง และส่งผลกระทบต่อชีวิตคน” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าว
นายนิมิตร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ฐานข้อมูลของกรมฯ ก็ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถค้นหาได้ว่ารายละเอียดการขอสิทธิบัตรเป็นอย่างไร หรือเมื่อทำจดหมายไปสอบถามทางกรมฯ ก็แจ้งว่ายังไม่มีการยื่นขอสิทธิบัตร ทั้งที่มีบริษัทยามายื่นขอในช่วงเวลาที่มูลนิธิฯ สอบถามไป แบบนี้ถือว่ามั่วหรือไม่ ขณะที่ กรมฯ ทำเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบกับชีวิตคน เพราะเป็นการให้สิทธิผูกขาดในการคิด ผลิต ขายแต่เพียงผู้เดียว แล้วการันตีการผูกขาดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ทั้งนี้ มูลนิธิฯ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ เรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการดังนี้ ๑.ชี้แจงกรณีพิจารณาคำคัดค้านล่าช้า และมีกำหนดระยะเวลาที่จะมีคำตัดสินคำคัดค้านที่ชัดเจนและไม่เกิน ๔ ปี ๒.ให้ความเชื่อมั่นต่อสาธารณะว่าข้อมูลที่ยื่นหลังประกาศโฆษณาเพื่อประกอบการพิจารณาคำขอสิทธิบัตร จะถูกนำไปพิจารณาประกอบกับข้อมูลแหล่งอื่นๆ ๓.แสดงความรับผิดชอบต่อการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด โดยเฉพาะกรณียา TAF และ ๔.ต้องแก้ไขระบบฐานข้อมูลโดยทันทีให้สามารถสืบค้นได้อย่างสะดวก ข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง และทันเวลา