เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ยื่น สปสช. เร่งนำยาต้านไวรัสเอชไอวี -TLD, ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี-SOF/VEL และยารักษาวัณโรคอีก 3 ชนิด เข้าเป็นสิทธิประโยชน์
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เครือข่ายฯ เข้ายื่นจดหมายต่อนพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประธานที่ประชุมคณะกรรมการฯ แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้พิจารณายาจำเป็นตามแนวทางการรักษาเอชไอวี วัณโรค และไวรัสตับอักเสบซี เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ และเร่งจัดหายาที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบบริการ มีรายการยาต่อไปนี้
1. TLD ยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรผสมรวมเม็ด คือ Dolutegravir (DTG)/Lamivudine/Tenofovir เพื่อใช้ทั้งเป็นสูตรพื้นฐานสำหรับผู้ติดเชื้อฯ ที่ไม่มีปัญหาดื้อยา และใช้ได้กับผู้ที่มีปัญหาดื้อยา เนื่องจาก DTG เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง กดเชื้อเอชไอวีได้เร็ว ดื้อยายาก ผลข้างเคียงต่ำ ทั้งนี้เป็นไปตามแนวทางการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ ของนานาประเทศ และองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ยาที่ DTG เป็นส่วนประกอบเป็นยาหลักในสูตรพื้นฐาน
2. Sofosbuvir/Velpatasvir ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ที่รักษาได้ทุกสายพันธุ์ เพื่อให้ครอบคลุมการรักษาได้ทุกสายพันธุ์ ลดขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย ประหยัดงบประมาณค่าตรวจสายพันธุ์และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ทั่วถึงมากขึ้น ทั้งนี้ ในสิทธิประโยชน์ปัจจุบัน ยาที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบซีสายพันธุ๋ที่ 3 ยังใช้ยา Sofosbuvir ร่วมกับยา Pegylated Interferon และยา Ribavirine ซึ่งมีผลข้างเคียงจากการรักษาที่รุนแรง
3. Rifapantine เพื่อใช้ร่วมกับยา Isoniazid (INH) ในการรักษาวัณโรคระยะแฝง (Latent TB) ซึ่งหากใช้ยา INH ตัวเดียว มีระยะการรักษา 6-9 เดือน แต่ถ้าใช้ร่วมกัน 2 ชนิด ใช้ระยะเวลารักษาเพียง 1 เดือน การลดระยะเวลาการรักษาสั้นลง จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเผชิญกับอาการข้างเคียงจากยาเป็นเวลานาน และส่งผลให้การกินยาต่อเนื่อง ลดอัตราการป่วยวัณโรค
4. Bedaquiline และ Delaminid ยารักษาวัณโรค ที่จำเป็นต้องใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยา Rifampicin ได้ และใช้กรณีวัณโรคเชื้อดื้อยา เพื่อให้มียาทางเลือกในการรักษามากขึ้นและลดอัตราการเสียชีวิตจากวัณโรคลง