ประชาสังคมร้องศาล ฟ้องกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ทำผู้ป่วยวัณโรคหายช้า
.
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านเอดส์ ประกอบด้วยตัวแทนจากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมฯ ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อให้ศาลฯ พิจารณายกคำขอรับสิทธิบัตรยารักษาวัณโรคชนิดดื้อยา
.
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ ให้ข้อมูลว่า ยารักษาวัณโรค “เบดาควิลีน” (Bedaquiline) เป็นยาที่มีความสำคัญในการรักษาวัณโรคชนิดดื้อยา ที่ทำให้การรักษาใช้เวลาสั้นลงมาก โดยหลายประเทศมีการยื่นคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรนี้ ซึ่งการยกหรือปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรนั้นจะทำให้ผู้ป่วยวัณโรคเข้าถึงยาได้มากขึ้น ทั้งนี้ ตามหน้าที่ของกรมฯ สามารถยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรยาตัวนี้ได้เลย เพราะเป็นการขอด้วยวิธีการใช้เพื่อการรักษา ซึ่งไม่เข้าองค์ประกอบในการได้รับสิทธิบัตร ขัดกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิทธิบัตร พ.ศ.2522 โดยกรมฯ มีอำนาจตามกฎหมายที่จะปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรนี้ แต่ทำไมถึงไม่ทำ
.
“กรมฯ มีหน้าที่สร้างความสมดุลระหว่างคุ้มครองผู้ทรงสิทธิ และคุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองประชาชน หากเห็นว่าคำขอรับสิทธิบัตรไหนที่ไม่เข้าข่ายอย่างชัดเจน ก็ควรใช้อำนาจตามกฎหมายคุ้มครองประชาชนอย่างเคร่งครัดมากกว่านี้” นายนิมิตร์ กล่าว
.
ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้วัณโรคชนิดดื้อยาเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากว่ายาที่ใช้ในการรักษามีราคาสูง โดยก่อนหน้านี้ต้องใช้เวลารักษาวัณโรคนาน 1 – 2 ปี แต่หากทำให้ยามีราคาถูกลง ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาสั้นลงเหลือเพียง 6 – 9 เดือน ประเทศไทยจะคุมเชื้อวัณโรคได้ดีกว่านี้ โดยองค์การอนามัยโลกจัดประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีภาระวัณโรคสูง รวมถึงวัณโรคชนิดเชื้อดื้อยาหลายขนาน
.
ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ให้ความเห็นว่า ยารักษาวัณโรคที่ใช้ในปัจจุบันนั้นมีผลข้างเคียงจากยารุนแรงมาก โดยอดีตผู้ป่วยวัณโรค หนึ่งในผู้ฟ้องคดี เคยรักษาวัณโรคด้วยยาสูตรอื่นนานถึง 23 เดือน และได้รับผลข้างเคียงจากการรักษา ทั้งซึมเศร้า นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย มึนงง คลื่นไส้อาเจียน บางช่วงอาการเหม่อลอยจนเกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชน จนบางครั้งต้องการหยุดการรักษาไปเลย ซึ่งถ้าในตอนนั้นมียาที่ใช้รักษาสั้นลง เขาคงไม่ต้องทนทุกข์ยาวนานเป็นปี จึงไม่ต้องการให้ผู้ป่วยวัณโรคคนอื่น ๆ ต้องเผชิญกับการรักษาที่ยาวนานแบบนี้
.
ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า ยารักษาวัณโรค “เบดาควิลีน” อยู่ในสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2564 แล้ว แต่มีราคาสูงถึง 36,000 บาทต่อการรักษาวัณโรค 6 เดือน ทำให้มียาสำหรับรักษาผู้ป่วยในไทยด้วยยาชนิดนี้เพียง 1,100 คน ขณะเดียวกัน ยาชนิดนี้ในประเทศอัฟริกาใต้มีราคาเพียง 12,000 บาท ซึ่งหากคำขอรับสิทธิบัตรนี้ถูกกรมฯ ปฏิเสธ จะทำให้ยาราคาถูกลง และผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยานี้จะเข้าถึงยาได้มากขึ้น
.
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2563 มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เคยยื่นหนังสือทักท้วงให้กรมฯ ยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรยาดังกล่าวของบริษัท แจนซ์เซ่น ฟาร์มาซูติกา เอ็น.วี.แล้ว แต่กรมฯ มีจดหมายตอบกลับว่าคำขอรับสิทธิบัตรยารักษาวัณโรค “เบดาควิลีน” ไม่ขัดกับกฎหมาย ทางมูลนิธิฯ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงฟ้องคดีต่อศาลฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบทรัพย์สินทางปัญญา
#เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี #มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ #หมายข่าว #ทรัพย์สินทางปัญญา