ผู้ติดเชื้อฯ เรียกร้องอนุทิน “อย่าปล่อยผู้ป่วยให้ต้องรอยา เร่งปลดล็อคเงื่อนไขการรักษาไวรัสตับฯ ซีให้ผู้ป่วยได้รับยาเร็วขึ้น”
.
ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อบ่ายวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ขณะที่มีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเสนอข้อเรียกร้องให้ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานให้ทันท่วงทีและทั่วถึงทุกกลุ่มประชากร โดยมีแพทย์หญิงปฐมพร ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟู และผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต สุขภาพที่ 13 และนายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รับจดหมายแทน
.
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ยื่นข้อเสนอให้แก้ไขแนวทางกำกับการใช้ยาโซฟอสบูเวียร์+เวลปาทาสเวียร์ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่ใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี โดยให้ลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคเพื่อให้โรงพยาบาลชุมชน สั่งจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยได้ เช่น นำยานี้ออกจากบัญชียาประเภท จ.(2) ไปอยู่ในบัญชียาประเภทอื่น ที่แพทย์จะสามารถสั่งจ่ายยาได้สะดวกขึ้น, อนุญาตให้แพทย์ทั่วไปที่ผ่านการอบรมทำการรักษาผู้ป่วยได้ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา, ปรับเกณฑ์การรักษาเพื่อทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้เร็วและครอบคลุมมากขึ้น โดยมุ่งให้ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีทุกคนได้รับการรักษา
.
นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังเรียกร้องให้พัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษา โดยเรียกร้องให้ผู้ป่วยรายที่ไม่มีอาการซับซ้อนเข้ารับบริการตั้งแต่ตรวจวินิจฉัยจนรักษาหายที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางระยะทางไกลๆ ไปยังโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลจังหวัด
.
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นสิทธิประโยชน์การรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ ซึ่งมียาสูตรรวมเม็ด (โซฟอสบูเวียร์+เวลปาทาสเวียร์) รับประทาน 12 สัปดาห์ สามารถรักษาไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้ มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 แต่เรายังมีปัญหา ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเข้าไม่ถึงการรักษา สูญเสียโอกาสการรักษาแต่เนิ่นๆ ก่อนป่วย ขณะเดียวกัน ยาที่ระบบหลักประกันสุขภาพเตรียมไว้ ทยอยหมดอายุ ประเทศต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อแลกเปลี่ยนยาล็อตใหม่มาทดแทน สาเหตุส่วนหนึ่ง มาจากการมีการกำหนดคุณสมบัติของแพทย์ผู้รักษา, ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย, เกณฑ์การรักษา ที่เป็นอุปสรรคการเข้าถึงยาทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการส่งต่อ หรือส่งต่อแต่ต้องไปรักษายังหน่วยบริการที่ห่างไกลจากบ้าน ผู้ป่วยไม่สะดวกในการเข้ารับบริการต่อเนื่อง
.
นายอภิวัฒน์ยังกล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขควรส่งเสริมให้บริษัทยาชื่อสามัญอื่นๆ มาขึ้นทะเบียนยาโซฟอสบูเวียร์+เวลปาทาสเวียร์ ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มการแข่งขัน เพราะปัจจุบันมียาโซฟอสฯ + เวลปาฯ ที่เป็นยาชื่อสามัญมาขึ้นทะเบียนยาเพียงบริษัทเดียวในไทย จึงทำให้ยายังมีราคาแพงอยู่มากเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
#ไวรัสตับอักเสบซี