วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 เป็นวันตับอักเสบโลก ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี กว่า 100 คน จากทั่วประเทศ เข้าพบนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเรียกร้องให้ สธ. ประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing-CL) เพื่อให้ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเข้าถึงการรักษาด้วยยาในรูปแบบของยากิน คือ ยากลุ่ม DAA (Direct-Acting Antiviral) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโดยตรง เช่น ยา Sofosbuvir, Daclatasvir, Ladipasvir เป็นต้น ซึ่งยากลุ่มนี้ใช้เป็นมาตรฐานการรักษาในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เนื่องจากเป็นยาที่มีประสิทธิภาพการรักษาหายขาดได้สูงกว่ายาที่ประเทศไทยใช้อยุ่ในปัจจุบัน พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้ สธ.มีมาตรการเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมให้หน่วยบริการตรวจเลือดคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี
สมชาย นามสพรรค ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี กล่าวว่า ยารักษาไวรัสตับอักเสบซีในสิทธิประโยชน์ปัจจุบันเป็นยาฉีด คือ Peg-interferon ร่วมกับ ยากิน Ribavirin ในกรณีของเขาซึ่งมีเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ต้องใช้ระยะเวลารักษานาน 1 ปี โดยต้องเดินทางไปฉีดยาที่โรงพยาบาลทุกสัปดาห์ และการรักษาด้วยยานี้ มีผลข้างเคียงสูงมาก เพื่อนของเขาจำนวนหนึ่งที่เข้ารับการรักษา ต้องหยุดการรักษาไปเพราะร่างกายทนผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่ได้ ซึ่งใกล้เคียงกับการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด เช่น ผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเมื่อยตามตัว เป็นต้น
“ขณะนี้มียา Sofosbuvir ซึ่งมีประสิทธิภาพการรักษาสูงกว่า ผลข้างเคียงน้อยกว่า แต่เราไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะยามีราคาแพงมาก” สมชาย กล่าว
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้ความเห็นว่า ยา Sofosbuvir ซึ่งเป็นยาหลักในการรักษาไวรัสตับอักเสบซี บริษัทยาต้นแบบที่ขายในสหรัฐอเมริกามีราคาประมาณ 28,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 980,000 บาทต่อขวด ถ้าต้องรักษา 12 สัปดาห์จะเป็นเงินประมาณ 2,940,000 บาท ซึ่งนอกจากราคาที่ตั้งไว้สูงจนเกินความเป็นจริงแล้ว บริษัทยาต้นแบบที่มีสิทธิบัตรยาดังกล่าวยังได้เพิ่มกลไกการผูกขาดตลาดยาด้วยการทำสัญญากับบริษัทยาชื่อสามัญในประเทศอินเดียหลายบริษัท อนุญาตให้ผลิตยาชื่อสามัญขายในราคาถูกได้ แต่กำหนดให้ขายได้เพียงบางประเทศที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น ส่วนประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่อยู่ในสัญญาพร้อมกับกว่า 50 ประเทศ ไม่มีสิทธิได้เข้าถึงยาราคาถูกจากบริษัทยาชื่อสามัญ
นิมิตร์ กล่าวต่อไปว่า ประสบการณ์ของไทยเคยประกาศซีแอลยาต้านไวรัสเอชไอวีและยารักษามะเร็งส่งผลชัดเจนว่าทำให้ประชาชนเข้าถึงยามากขึ้น ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ สธ.ต้องแสดงความกล้าหาญ ตัดสินใจประกาศซีแอลยา Sofosbuvir ให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตยา เพื่อบรรเทาการขาดแคลนยา ให้คนในประเทศ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติเข้าถึงยาที่ช่วยรักษาชีวิต
ด้านอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา เห็นเพื่อนๆ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเสียชีวิตด้วยมะเร็งตับหลายคน ซึ่งทางการแพทย์มีข้อมูลว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีหากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร่วมด้วยจะเร่งการเป็นมะเร็งตับ ตับแข็งเร็วขึ้น ในแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีของกรมควบคุมโรคระบุว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคน รวมทั้งผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เช่น ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด ต้องได้รับการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี แต่ทั้งสองกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับตรวจตามมาตรฐาน สธ.ควรเร่งส่งเสริมให้ทุกโรงพยาบาลตรวจคัดกรองให้ได้ 100% โดยต้องทำให้ผู้ให้บริการเห็นความสำคัญของการตรวจและการรักษา รวมทั้งต้องช่วยให้หน่วยบริการมีชุดตรวจที่มีคุณภาพในราคาถูกที่ลง
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เข้าใจดีว่าโรคตับเป็นโรคที่เป็นปัญหาของคนไทย โดยมีผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ ๕๑๐,๐๐๐ คน แต่ปัญหาคือการตรวจวินิจฉัยมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ สปสช.เห็นความสำคัญ และสนับสนุนในส่วนนี้ เพราะบางครั้งกลายเป็นภาระของ รพ.เพื่อให้พวกเราได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง
“ส่วนการรักษานั้น ยามี แต่ยาแพงมาก จะทำอย่างไรให้ยาถูกลง โดยกระทรวงสาธารณสุขจะรับไปหาทางเพื่อดูแลพี่น้องให้ดีที่สุด ตอนนี้จะทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ประชาชน และนักวิชาการต่างๆ” นายแพทย์โสภณ กล่าว