๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๗
ที่ คอท. ๔๓/๒๕๕๗
เรื่อง ขอให้คอลัมนิสต์ศุกร์กับเซ็กส์ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านในเรื่องเอชไอวี/เอดส์
เรียน กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก / พญ.ชัญวลี ศรีสุโข คอลัมนิสต์ “ศุกร์กับเซ็กส์”
จากคอลัมน์ศุกร์กับเซ็กส์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๗ เรื่อง ติดเชื้อเอชไอวีทั้งสามีภรรยามีลูกได้ไหม ที่กล่าวถึงเหตุผลที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ควรมีลูกด้วยเหตุผลทางการแพทย์ ๗ ข้อนั้น ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เห็นว่า การนำเสนอข้อมูลตั้งแต่เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว พร้อมทั้งใส่ทัศนะหรือความคิดเห็นของผู้เขียนลงไปด้วยนั้น จะส่งผลต่อความเข้าใจผิดในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ให้กับผู้อ่านและสังคม ดังนี้
๑.ปัจจุบันพบว่า มารดาติดเชื้อเอชไอวีลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๐.๖ ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด ส่งผลให้แต่ละปี มีมารดาติดเชื้อเอชไอวี ประมาณ ๕,๐๐๐ กว่าราย รวมถึงขณะนี้ มีการรักษามารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีโดยใช้ยาต้านไวรัสตามแนวทางการรักษาที่ชัดเจนของประเทศไทย โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนค่ายาทั้งหมด
ทั้งนี้ การเริ่มรักษาแต่เนิ่นๆ นั้น ทำให้อัตราการติดต่อของเชื้อฯ จากแม่สู่ลูกลดลงอย่างมาก จากร้อยละ ๒๕ เหลือประมาณร้อยละ ๑ – ๒ หรือคิดเป็นเด็กที่ติดเชื้อใหม่ประมาณ ๑๐๐ คนต่อปี และเด็กทุกรายที่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรกคลอด มีความปลอดภัยและมีชีวิตรอด รวมไปถึงพ่อแม่ผู้ติดเชื้อฯ หากได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องก็สามารถดำรงชีวิต มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงได้ตามปกติ
การใส่ความคิดเห็นว่าลูกของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่พ่อแม่เสียชีวิตจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคฉวยโอกาสต่างๆ จากเอดส์ว่าเป็นภาระของญาติ สังคม และประเทศชาติ เป็น “มายาคติ” ที่ถูกสังคมสั่งสมและบ่มเพาะขึ้นมาว่าเด็กที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ที่มีสายเลือดโดยตรงนั้นจะเป็น “ภาระ” ของคนอื่น ทั้งที่ข้อเท็จจริงในสังคมจำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้เด็กจะเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้ “สมบูรณ์แบบ” แต่เด็กทั้งที่มีเชื้อเอชไอวีและไม่มีเชื้อเอชไอวี ไม่ได้เป็นภาระของผู้อื่น แต่ยังสามารถเติบโต และทำมาหาเลี้ยงครอบครัวได้อีกด้วย การใช้ทัศนะของผู้เขียน มาตัดสินเด็กที่ไม่มี “พ่อแม่” เช่นนี้เป็นการ “ตีตรา” เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวีว่าเป็นภาระของสังคม ทั้งที่ไม่มีใครสามารถเลือกเกิดได้
๒.เป็นความจริงที่ว่าการติดเชื้อเอชไอวีเป็นสาเหตุของโรคเอดส์และยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ในปัจจุบัน แต่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถเข้าถึงการรักษาตามมาตรฐานโดยยาต้านไวรัส ทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่แตกต่างจากคนทั่วไป เนื่องจากยาต้านไวรัสจะช่วยกดเชื้อไวรัสเอชไอวีไม่ให้ไปทำลายเม็ดเลือดขาว CD4 ดังนั้น การติดเชื้อเอชไอวีถือเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังชนิดหนึ่งเท่านั้น แม้ไม่สามารถรักษาหายขาด แต่สามารถควบคุมโรคได้ ซึ่งในประเทศไทย ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่แรกเกิดที่อายุมากกว่า ๒๐ ปี และยังคงมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เสียชีวิตจากเอชไอวี/เอดส์ แต่อย่างใด พ่อแม่ก็ไม่จำเป็นต้องเสียชีวิต เด็กก็ไม่กำพร้าอีกต่อไปแล้ว
๓.ด้วยความก้าวหน้าของการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ด้วยการเริ่มยาในมารดาที่ติดเชื้อฯ ขณะตั้งครรภ์ร่วมกับการเริ่มยาให้แก่เด็กตั้งแต่แรกเกิดนั้น ทารกมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีน้อยมากดังกล่าวในข้อ ๑ ทั้งนี้ หากมารดาไม่ได้รับยา หรือได้รับอย่างไม่เหมาะสม ครบถ้วน อาจทำให้ทารกมีโอกาสติดเชื้อฯ มากขึ้น เช่น จากร้อยละ ๒ เป็นร้อยละ ๑๐ – ๒๐ แต่หากพบว่าติดเชื้อฯ ก็สามารถรักษาได้ เด็กเหล่านี้สามารถเจริญเติบโตและสุขภาพร่างกายแข็งแรงเหมือนเด็กปกติทั่วไป
ปัจจุบันนี้พวกเขาโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว และบางส่วนก็อยู่ในวัยทำงานแล้ว โดยไม่ได้มีภาวะเจ็บป่วยจากเอชไอวี/เอดส์ แต่อย่างใด มิได้ต้องมีชีวิตทรมาน หรือเสียชีวิตภายใน ๕ ปี
ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ กระตุ้นเตือนให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน มาฝากท้องโดยเร็ว เพื่อจะได้รีบให้การวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว
๔.การให้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อฯ จากแม่สู่ลูก โดยปัจจุบันตามแนวทางมาตรฐานสามารถเริ่มยาได้เร็วที่สุดเมื่อทราบว่ามารดาได้รับเชื้อเอชไอวี โดยไม่ต้องคำนึงถึงอายุครรภ์ ซึ่งยาต้านไวรัสมีความปลอดภัยสูงต่อทั้งมารดาและทารก ไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายรุนแรงที่ทำให้มารดาและทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ แม้อาจพบผลข้างเคียงของยาแต่ละชนิดได้บ้างเล็กน้อย เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ถ่ายเหลว ซีด และผลข้างเคียงทางไต หากเมื่อพบอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวแพทย์ผู้ดูแลสามารถปรับสูตรยาเพื่อลดอาการข้างเคียงลงได้ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อฯ ส่วนน้อยมาก ที่ไม่สามารถทนยาได้
ส่วนการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี หากมารดาเข้ารับการฝากครรภ์และรับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ทารกในครรภ์จะสามารถเจริญเติบโตได้ดี ไม่พบความพิการแต่กำเนิด1 การขาดสารอาหาร หรือการเสียชีวิตในครรภ์เพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด
นอกจากนี้ มีการศึกษาให้เห็นชัดว่า การตั้งครรภ์ไม่ได้ทำให้อาการของผู้ติดเชื้อฯ แย่ลง2ดังนั้นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรได้รับการสนับสนุนให้สามารถสร้างครอบครัวได้อย่างเป็นปกติ มีสิทธิในการตั้งครรภ์ เพราะปลอดภัยทั้งแม่และลูก และสามารถเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. Townsend CL. AIDS 2009;23:519-24
2.Tai JH. JID 2007;196:1044-52
อย่างไรก็ตาม การสื่อสารที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน รอบด้าน รวมถึงใส่ทัศนะของผู้เขียน ซึ่งเป็นแพทย์ด้วยนั้น จะส่งผลกระทบ คือ
๑. คนที่ติดเชื้อฯ จะเข้าไม่ถึงการรักษา เพราะคิดว่าเอดส์เป็นแล้วตาย มีอายุสั้น รักษาไม่หาย จึงไม่เข้าสู่ระบบการดูแลรักษา ไม่เพียงเท่านั้น จะส่งผลต่อครอบครัว ที่เห็นว่าการดูแลผู้ติดเชื้อฯ ไม่มีความจำเป็น เป็นภาระ เลยผลักให้ผู้ติดเชื้อฯ ออกไปอยู่ที่อื่น เช่น วัด หรือสถานสงเคราะห์
๒. สถานศึกษาไม่รับผู้ติดเชื้อฯ เข้าเรียนหนังสือ เพราะมองว่าไม่มีความจำเป็น เรียนไปก็เท่านั้น ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน รวมทั้ง ไม่รับผู้ติดเชื้อฯ เข้าทำงาน เพราะคิดว่าผู้ติดเชื้อฯ ไม่แข็งแรง ทำงานได้ไม่เต็มที่และกลัวว่าจะเป็นภาระเมื่อเจ็บป่วย
๓. เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี ถูกตีตราจากสังคม และอาจมองว่าตัวเองมีคุณค่าไม่เท่าคนอื่น รวมถึงโทษบุพการีว่าทำให้ตัวเองได้รับเชื้อฯ ทั้งที่ไม่มีใครตั้งใจที่จะได้รับเชื้อเอชไอวี การรับเชื้อเอชไอวีเกิดจากความไม่รู้ เลยไม่ได้ป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์หรือใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกับผู้อื่น
ดังนั้น ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ขอให้กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก และ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข ดำเนินการ ดังนี้
๑.ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง รอบด้านว่า เอดส์เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่สามารถรักษาได้ ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีสุขภาพแข็งแรง ใช้ชีวิตปกติ เรียนได้ ทำงานได้ มีครอบครัว มีลูกได้เหมือนคนที่ไม่ติดเชื้อฯ โดยไม่ใส่ทัศนะของตัวเองลงไปในงานเขียน อนึ่ง แม้โอกาสในการติดเชื้อฯ ของเด็กเมื่อแรกเกิดยังมีอยู่ ก็ควรให้ข้อมูล เช่น วิธีการป้องกัน หรือการเตรียมความพร้อมของพ่อแม่ หากเด็กที่เกิดมาได้รับเชื้อเอชไอวีด้วย เป็นต้น
๒.ให้ข้อมูลว่า ในเรื่องสิทธิประโยชน์ของคนไทยทุกคนนั้น ครอบคลุมการรักษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแบบใด เช่น ระบบข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง ทั้งการตรวจเลือดหาการติดเชื้อไวรัส การดูแลรักษาด้วยยาต้านฯ การรักษาโรคฉวยโอกาส เป็นต้น
๓.ผู้เขียนควรให้ข้อมูล เพื่อให้ผู้อ่าน หรือคนในสังคมรู้จักประเมินความเสี่ยงของตัวเอง ว่าเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อฯ ที่ดูไม่ออกจากรูปลักษณ์ภายนอก โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย และเมื่อเห็นความเสี่ยงของตัวเองแล้ว ก็จะเข้าสู่การตรวจเลือดหาการติดเชื้อฯ โดยสมัครใจ ซึ่งสามารถตรวจได้ฟรีปีละ ๒ ครั้ง และเมื่อประเมินความเสี่ยงของตัวเองได้เร็ว และรู้สถานะการติดเชื้อฯ หรือรู้ผลเลือดของตัวเอง จะทำให้คนที่มีเชื้อฯ เข้าสู่การดูแลรักษาได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้ป่วยก่อน รวมทั้งเป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้รับหรือแพร่เชื้อฯ ได้มากขึ้น
๔.หากกองบรรณาธิการ / ผู้เขียน สนใจพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล /ความคิดเห็นกับผู้ติดเชื้อฯ ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ยินดีร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อเท็จจริงในเรื่องเอชไอวี/เอดส์อีกด้านหนึ่ง ว่าผู้ติดเชื้อฯ ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติ
สนใจข้อมูลเรื่องเอดส์เพิ่มเติม ดูรายละเอียด ได้ที่ www.thaiplus.net หรือปรึกษาเรื่องเอดส์ โทร ๑๖๖๓