‘“เอดส์” ไม่ได้ติดกันง่ายๆ’

แต่ ‘“เอดส์” ติดได้จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน’

ประโยคเหล่านี้คงเป็นประโยคคุ้นหูของใครหลายๆ คน ไม่ว่าจะถูกพร่ำสอนอยู่ในโรงเรียน หรือเห็นโปสเตอร์โฆษณาแผ่นเท่าข้างฝา แปะตามตอม่อรถไฟฟ้า หรือป้ายรถเมล์ แต่ประโยคเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นประโยคสวยหรู ที่มีไว้แค่ท่องจำ แต่ไม่ได้มีไว้ให้เข้าใจหรือปฏิบัติ

แม้เรื่อง “เอดส์” จะเป็นเรื่องที่ไม่ใหม่สำหรับสังคมไทยแล้ว เพราะเอดส์เข้ามาในเมืองไทยไม่ต่ำกว่า 25 ปี หลายคนเข้าใจและยอมรับเรื่องเอดส์/เอชไอวี เท่ากับเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง หลายคนยอมรับ “ผู้ติดเชื้อเอชไอวี” ว่าเราไม่ต่างกัน เราสามารถอยู่ร่วมกันได้

แต่ “หลายคน” ก็ยังเลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อฯ

พรรณพิท จันทร์สว่าง หนึ่งในผู้ติดเชื้อฯ ภาคอีสาน เป็นผู้หนึ่งที่ถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะเขามีเชื้อเอชไอวี

พรรณพิท เล่าว่า หลายวันก่อน เขาไปหาหมอฟัน แต่หมอก็ไม่รักษาให้ โดยหมอฟันให้เหตุผลว่าเขามีภูมิคุ้มกัน (CD4) ต่ำ เลยกลัวว่าเขาจะติดเชื้อจากเครื่องมือที่หมอฟันทำการผ่าตัดให้

“ผมก็ไปเข้าคิวตามปกติ พอถึงคิว หมอก็ตรวจเช็คฟัน และบอกว่าต้องถอนฟัน 1 ซี่ ระหว่างที่หมอกำลังตรวจเช็คสุขภาพช่องปากอยู่นั้น ผู้ช่วยพยาบาลก็บอกกับหมอฟันว่า “เห็นผลเลือดหรือยัง” หมอที่กำลังตรวจฟันอยู่ ก็เดินออกไปดูประวัติการรักษาของผม ซึ่งผมรับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้นอยู่แล้ว”

พรรณพิท เล่าต่อไปว่า แล้วหมอฟันก็มาถามว่ามี CD4 เท่าไหร่ เขาบอกว่า CD4 อยู่ที่ 265 cells/mm3 หมอเลยบอกให้เขาไปตรวจ CD4 ก่อน เพราะถ้าต่ำกว่า 350 cells/mm3 จะไม่ทำฟันให้

“ผมก็งง คิดว่าคงหมดโอกาสที่จะทำฟันแล้ว แย่แน่ๆ เลย เพราะกินยาต้านไวรัสมาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2545 CD4 ก็ไม่เคยเกิน 300 cells/mm3 แล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมาผมเพิ่งผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี ตอนนั้น CD4 ก็เท่านี้ ก็ยังทำได้ ไม่เป็นอะไร สรุปว่าก็เลยไม่ได้ถอนฟัน”

พรรณพิท บอกว่า เขาไม่รู้จะทำอย่างไร จึงไปขอให้หมอฟันเขียนจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษรถึงแนวทางในการรักษา เพื่อยืนยันในสิ่งที่พูด แต่หมอฟันไม่ได้เขียนให้

ไม่เพียงแค่พรรณพิทเท่านั้น ที่ถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะเขามีเชื้อเอชไอวี เฉลิม ผู้ติดเชื้อฯ คนหนึ่งในพื้นที่ภาคกลาง ก็เคยถูกกระทำจากหมอฟัน เช่นเดียวกัน

เฉลิม มีปัญหาเรื่องปวดฟัน เขาไปหาหมอฟัน แต่ไม่ว่าเขาจะไปกดบัตรคิวแต่เช้าตรู่ สักเพียงใด คิวที่เขาจะได้รับการตรวจฟัน คือคิว “สุดท้าย” เสมอ

“ผมปวดฟัน เลยไปหาหมอ แต่ก็ได้รับแจ้งว่าให้มาหาหมอหลัง 11 โมง ผมก็สงสัย เลยถามว่าทำไม เขาก็ให้ไปคุยกับหัวหน้าแพทย์ แล้วเขาก็ให้เหตุผลว่า เพราะการทำฟัน อาจมีการฟุ้งกระจายของเชื้อในขั้นตอนของการทำฟัน เช่น การกรอฟัน และเอาไปติดคนอื่นได้”

เฉลิม รู้สึกว่าสิ่งที่หมออธิบายมันไม่ใช่ เพราะเอชไอวีไม่ได้ติดกันง่ายๆ และจริงๆ แล้ว การตรวจรักษาฟันต้องมีการรักษาความปลอดภัยให้กับทุกคน

“หมอเขาจะรู้เหรอว่าใครติดเชื้อฯ เพราะเขาไม่ได้ตรวจเลือดทุกคน ที่เขารู้ เพราะมีประวัติเก่าของเราเท่านั้นเอง”

การตั้งคำถามของเฉลิม มาจากฐานคิดที่ว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้น ไม่สามารถดูออกจากรูปลักษณ์ภายนอกได้ว่าใครติดเชื้อฯ การจะรู้ได้มีเพียงวิธีเดียว นั่นคือ “การตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี” ดังนั้นสิ่งที่เขารู้สึก คือ “การถูกเลือกปฏิบัติ” เพียงเพราะหมอเห็นประวัติการรักษาของเขา และพบว่าเขามีเลือดบวก

“เราอยากให้เขารักษาเราเหมือนคนทั่วไป เพราะเอชไอวีไม่ได้ติดกันง่ายๆ จากการอยู่ร่วมกัน หรือการรักษา ซึ่งเราก็ต้องมีเหตุผลที่จะอธิบายว่าติดกันอย่างไร เพราะคนอาจไม่เข้าใจทั้งหมด” ผู้ติดเชื้อฯ คนเดิม ให้เหตุผล

เช่นเดียวกับ พรรณพิท เขาพยายามสู้ทุกวิถีทาง ทั้งยื่นหนังสือให้กับผู้บริหารโรงพยาบาล คุยกับคนที่พอจะให้คำปรึกษาและช่วยแก้ปัญหาได้ ซึ่งสิ่งที่เขาทำก็เพื่อต้องการให้คนในสังคมเข้าใจว่าผู้ติดเชื้อฯ ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ ควรได้รับการดูแลเหมือนคนทั่วไป

“ผมอยากให้เขาปฏิบัติเหมือนกันกับทุกคน ไม่ได้แบ่งแยกด้วย CD4 คือต่อไปไม่ควรมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก” พรรณพิท บอก

แม้ตอนนี้ พรรณพิท จะได้รับโทรศัพท์จากหมอคนเดิม ให้เขากลับไปทำฟันได้แล้ว หลังจากที่เขาทำเรื่องร้องเรียน โดยให้เหตุผลว่าในตอนแรกที่ใช้เกณฑ์ CD4 ที่ 350 นั้นเพราะเป็นยึดแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ของประเทศไทยใช้ที่ 200 นั่นแปลว่าพรรณพิทจึงกลับไปทำฟันได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่เขาจะได้รับโทรศัพท์นั้น พรรณพิท ตัดสินใจไปถอนฟันที่อื่นแล้ว

“แล้วความรู้สึกของผมที่เสียไปล่ะ” พรรณพิท ตั้งคำถาม

ขณะที่ สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ให้ความเห็นว่า กรณีของพรรณพิทนี้ หมอคงจะเข้าใจผิดเรื่องแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อฯ โดยตีความว่าการรักษาควรใช้เกณฑ์เดียวกันกับการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งจากการเช็คข้อมูลกับทันตแพทยสภา ก็ไม่มีแนวทางการรักษาที่เป็นเฉพาะกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

“ถ้าเกิดจากความเข้าใจผิดก็ไม่เป็นไร แต่คิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาให้กับหมอฟันคนอื่นๆ ว่าเราควรสร้างความเข้าใจเรื่องเอชไอวีกับทันตแพทย์”

ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ ให้ความเห็นว่า หมอฟันอาจจะกลัว ก็เลยไม่อยากทำให้ ซึ่งเขาไม่มั่นใจว่าหมอฟันคนอื่นๆ จะเข้าใจแบบนี้ด้วยหรือเปล่า เลยต้องการให้ทันตแพทยสภาออกหนังสือเวียนให้กับทันตแพทย์ทั่วประเทศรับทราบว่าไม่ได้มีแนวทางการทำฟันให้ผู้ติดเชื้อฯ เป็นกรณีพิเศษ แต่สามารถให้การรักษาได้เหมือนคนทั่วไป

ด้าน กลุ่มผู้วิจัยจากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสภากาชาดไทย ให้ความเห็นว่า ปกติทันตแพทย์จะไม่รู้ว่าผู้ป่วยมีเชื้อเอชไอวีหรือไม่ หากผู้ปวยไม่บอก หรือไม่มีอาการแสดงทางร่างกายหรือในช่องปากที่ชัดเจน ดังนั้น การประเมินฟันเพื่อวินิจฉัยโรคก็จะเหมือนกับผู้ป่วยทั่วไปทุกราย หากต้องถอนฟัน และผู้ป่วยปฏิเสธโรคประจำตัวใดๆ ก็จะถอนตามปกติ หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ต้องระวังอาการแทรกซ้อนจากการทำฟัน หรือถอนฟัน ทันตแพทย์ก็จะขอประเมินเพิ่มเติม

“หากผู้ป่วยเป็นเอชไอวี ก็ขึ้นกับว่าทันตแพทย์มีความรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อมากเพียงใด โดยทั่วไป ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับประทานยา มีค่าไวรัสสูงๆ ค่า CD4 ต่ำ ทันตแพทย์อาจไม่มีความมั่นใจในการทำฟันให้ และอาจแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อน แต่กรณีผู้ป่วยทานยาแล้ว และควบคุมโรคได้ดี ทันตแพทย์ก็ควรจะทำฟันให้ได้ตามปกติ” กลุ่มผู้วิจัยกล่าวและว่า ขึ้นกับว่าทันตแพทย์จะทำหรือไม่ บางรายอาจยังไม่มีความมั่นใจ กลัวคนไข้จะเจ็บป่วยมากขึ้น หรือกลัวการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งถ้าไวรัสไม่สูง ก็ไม่น่าต้องกังวล กลัวการทำงานที่อาจผิดพลาด เช่น เข็ม หรือมีดตำ หรือกลัวการติดเชื้อแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ผู้ป่วยอาจมี เช่น วัณโรค ไวรัสตับอักเสบ รวมไปถึงภาวะเลือดจาง เกล็ดเลือดต่ำ

นอกจากนี้ กลุ่มผู้วิจัยฯ ยังให้ข้อมูลอีกว่า จากการวิจัยในกลุ่มเล็กๆ ที่เขาเคยทำ มีข้อน่าสังเกตว่า ผู้ป่วยเอชไอวีกว่า 80% เลือกที่จะปิดบังประวัติความเจ็บป่วยเอชไอวีต่อทันตแพทย์ เพราะกลัวว่าจะไม่ได้รับการรักษาเท่าเทียมกับคนอื่น หรือโดนปฏิเสธการรักษา ทั้งๆ ที่ผู้ปวยก็เชื่อว่าทันตแพทย์มีจรรยาบรรณสูง ควรจะให้การรักษาที่เท่าเทียมกัน และมีความรู้ที่ถูกต้อง

“เมื่อพบผู้ป่วยเอชไอวี จะให้คำแนะนำว่าให้แจ้งทันตแพทย์ถึงความเป็นไปของโรค ภาวะโรคแทรกซ้อน การได้รับยา ฯลฯ เพื่อที่ทันตแพทย์จะได้วางแผนการรักษาให้เหมาะสม เช่น ป้องกันการติดเชื้อลุกลามจากการถอนฟัน จัดเตรียมอุปกรณ์ห้ามเลือด” กลุ่มผู้วิจัยฯ กล่าว

ทั้งนี้ หากสังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพใน “ความเท่าเทียม” ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นใคร จะมีเชื้อเอชไอวีหรือไม่ ก็ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ จาก “อคติ” ของความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ การรังเกียจ ที่สังคมยึดติด เพียงเพราะเขามีผลเลือดต่าง?!?