เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ได้รางวัล “เกียรติยศ 5 ทศวรรษระบบยาประเทศไทย” สาขาเครือข่ายภาคประชาชน ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบยา จากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในงานการประชุมวิชาการ “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ระบบยาประเทศไทย” เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ซึ่งรางวัลดังกล่าวเป็นการเชิดชูเกียรติให้กับบุคคลหรือเครือข่ายที่มีส่วนร่วมสร้างคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบยาของประเทศ

นางยุพา สุขเรือง ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย

นางยุพา สุขเรือง ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ของเพื่อนๆ ในข่ายผู้ติดเชื้อฯ ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันเรื่องการเข้าถึงยาให้ฟังว่า สมัยก่อนที่เริ่มมีบัตรทองใหม่ๆ ระบบสุขภาพยังไม่ครอบคลุมยาต้านไวรัสเอชไอวี เพราะยาต้านไวรัสฯ ในเวลานั้นมีราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากติดปัญหาเรื่องสิทธิบัตร รัฐบาลจึงไม่มีงบประมาณเพียงพอในการจัดซื้อยา ทำให้เพื่อนผู้ติดเชื้อฯ ยังไม่ได้รับสิทธิการรักษา เราจึงเริ่มเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการต่อรองราคายา รวมถึงมองหายาต้านไวรัสฯ ที่เป็นยาชื่อสามัญที่มีราคาถูกให้เข้ามาใช้ในประเทศโดยเร็ว ด้วยการพยายามพัฒนาข้อเสนอที่เป็นชุดสิทธิประโยชน์ส่งให้กับ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ให้พิจารณาอย่างต่อเนื่องทุกปี จนถึงทุกวันนี้ไม่เพียงแต่จะผลักดันให้ยาต้านไวรัสฯ ตัวใหม่เข้าสู่ระบบได้แล้ว การดูแลรักษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี เช่น การคัดกรองวัณโรค ไวรัสฯ บีและซี ฯลฯ ก็ยังได้รับการพัฒนาให้ได้ตามมาตรฐานอีกด้วย

ขณะเดียวกันแกนนำของกลุ่มผู้ติดเชื้อ และกลุ่มของศูนย์องค์รวมก็ได้ให้ความรู้กับเพื่อนผู้ติดเชื้อฯ ได้เห็นความสำคัญและเข้าใจความจำเป็นของการใช้ยาต้านไวรัสฯ ด้วย โดยมีเป้าหมายสำคัญคือต้องการให้เพื่อนผู้ติดเชื้อฯ ใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังได้ร่วมคัดค้านการขึ้นสิทธิบัตรยาของบริษัทยาข้ามชาติ เพราะยาบางชนิดไม่มีความเหมาะสมที่จะได้สิทธิบัตร เพราะไม่ได้เป็นยาใหม่ ก็สำเร็จในยาบางตัว ทำให้เราเข้าถึงยาที่ไม่ติดสิทธิบัตร ทำให้ยามีราคาถูก ประเทศไทยโดยองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาใช้ในประเทศได้ในราคาที่เหมาะสม

เช่น การคัดค้านบริษัทยาข้ามชาติที่จะเข้ามาจดสิทธิบัตรยาไวรัสตับอักเสบซี “โซฟอสบูเวียร์” ในไทย เพราะเห็นว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์เรื่องความใหม่ ยิ่งหากปล่อยให้ยาดังกล่าวมีสิทธิบัตรในไทย จะมีราคาสูงถึงเม็ดละประมาณ 30,000 บาท คนที่จำเป็นต้องใช้ก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ และองค์กรภาคีจึงยื่นคัดค้านอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดบริษัทยาข้ามชาติจึงยอมให้สิทธิโดยสมัครใจ (Voluntary Licensing หรือ VL) กับไทย ซึ่งหมายความว่าประเทศของเราจะสามารถผลิตหรือนำเข้ายาชื่อสามัญในราคาที่ถูกลงเหลือเม็ดละประมาณ 100 กว่าบาท ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศมีงบประมาณเพียงพอในการจัดหายาให้ผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม

แต่ทั้งนี้การเคลื่อนไหวเรื่องการเข้าถึงยาของพวกเรา ก็ไม่ได้มุ่งประโยชน์ให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น แต่พวกเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยเรื้อรังโรคอื่นๆ เข้าถึงยาที่จำเป็นด้วยเช่นกัน เช่น การร่วมผลักดันให้รัฐบาลประกาศทำซีแอลยา (CL: Compulsory licensing หรือการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาโดยรัฐ) ในช่วงที่เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขจึงจำเป็นต้องนำเข้ายาที่ติดสิทธิบัตรมาใช้ในระบบสาธารณสุขในราคาที่ถูกลง ในปี 2549 รัฐบาลจึงประกาศใช้มาตรการซีแอลกับยาโรคเรื้อรังที่ไม่ใช่แค่เอชไอวีเท่านั้น แต่รวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคมะเร็ง ที่ได้เข้าถึงยาจำเป็นได้อย่างทั่วถึง จึงช่วยให้มีชีวิตยืนยาวมากขึ้น และมีงบเพียงพอสำหรับนำไปพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม

“การได้รางวัลครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้ติดเชื้อทุกกลุ่ม ทุกศูนย์องค์รวมที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องการรักษาของตัวเอง ตั้งแต่การทำความเข้าใจเรื่องการกินยาต้านไวรัสฯ ที่ถูกต้อง การร่วมกันเสนอชุดสิทธิประโยชน์ที่ช่วยให้ผู้ติดเชื้อฯ เข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐาน และการร่วมติดตามสถานการณ์ยาต่างๆ  ด้วยกัน ก็เป็นรางวัลของพวกเรา ขอบคุณทุกคนอีกครั้ง” ยุพากล่าว

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ มีความเกี่ยวข้องกับระบบยาในประเทศด้วยการทำงาน 2 ระดับ คือระดับพื้นที่และในเชิงนโยบาย ถ้าโฟกัสในพื้นที่/กลุ่มงานศูนย์องค์รวม เวลามียาต้านไวรัสเอชไอวีตัวใหม่ๆ เข้ามาในระบบ แกนนำในพื้นที่จะมีบทบาทสำคัญให้ข้อมูลกับเพื่อนในเครือข่ายได้รู้จักกับยาที่เข้ามาในระบบ และช่วยกันต่อรองกับทาง รพ.ให้เพื่อนผู้ติดเชื้อฯ ได้เข้าถึงยาต้านไวรัสฯ ตัวใหม่ที่จะช่วยทำให้ผู้ติดเชื้อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกันมีการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเกี่ยวกับยาต้านไวรัสฯ ตัวใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น เป็นตัวยาที่กดเชื้อได้ดี มีผลข้างเคียงน้อย ทานยาได้สะดวก (น้อยเม็ดน้อยมื้อ) และมียาชื่อสามัญในราคาที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายได้ ฯลฯ เพื่อนำข้อมูลไปเสนอเป็นไกด์ไลน์ หรือนำไปพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ยกตัวอย่าง การผลักดันยาต้านไวรัสฯ ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ ได้เข้าถึงยาต้านตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพการกดเชื้อได้ดียิ่งขึ้นตามความก้าวหน้าทางวิชาการ ตั้งแต่ยาสูตรรวมเม็ดจีพีโอเวียร์ (d4T+3TC+NVP) ขยับมาเป็นยาสูตรรวมเม็ดทีเวียร์ (EFV+FTC+TDF) และถึงจะมาเป็นยา TLD (TDF+3TC+DTG) ที่สามารถต้านการดื้อยาสูง ผลข้างเคียงต่ำ ปฏิกิริยาระหว่างยาน้อย ให้ผลลัพธ์ในการกดปริมาณไวรัสฯ ได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ยังมีส่วนร่วมในการติดตามมาตรการ หรือนโยบายต่างๆ ของรัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาที่จำเป็น เช่น การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ และการเฝ้าระวังการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ที่ไม่เห็นด้วยกับการนำเรื่องสาธารณสุขของไทย ไปแลกกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ไม่เพียงเท่านั้นยังเข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เช่น กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม องค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความเห็นต่อการจัดทำนโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ทุก 5 ปี เพื่อวางแนวทางพัฒนาระบบยาในประเทศร่วมกันอีกด้วย

แม้ว่าตอนนี้ดูเหมือนเรื่องการเข้าถึงยาต้านไวรัสฯ ของผู้ติดเชื้อฯ จะไปได้ดี แต่สิ่งที่อยากเห็นในระบบยาของไทยมากกว่านี้คือ การมีแนวทางสนับสนุนที่ให้ประเทศมีความมั่นคงทางยา ทำให้ประเทศสามารถพึ่งพาตัวเองในการผลิตยาได้ อยากเห็นอุตสาหกรรมยาในประเทศมีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นการทำวิจัย ความสามารถในการผลิตยาต้นแบบได้เอง การผลิตวัตถุดิบได้เอง รวมถึงมีศักยภาพในการส่งออกยาไปจำหน่ายในตลาดยาต่างประเทศได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องทำควบคู่ไปกับการระมัดระวังเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฯ และการเจรจาข้อตกลงเขตการเสรี หรือเอฟทีเอกับกลุ่มสหภาพยุโรป ที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่ยิ่งทำให้ระบบาของไทยอ่อนแอ

กล่าวคือ การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ที่ไปเพิ่มเงื่อนไขการทำซีแอลได้ยากขึ้นในห้วงที่เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขที่จะนำเข้าหรือผลิตยาที่ติดสิทธิบัตร เพราะการแก้ไขกฎหมายได้เพิ่มเงื่อนไขมา 3 ประการ คือ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ก่อน เจ้าของสิทธิบัตรสามารถฟ้องต่อศาลให้ระงับการประกาศใช้หรือให้ยกเลิกมาตรการที่ประกาศไปแล้วได้ และค่าชดเชยไม่ได้ดูตามเศรษฐานะของประเทศนั้นๆ แต่จ่ายตามความพึงพอใจของเจ้าของสิทธิบัตร

ในขณะที่การเจรจาเอฟทีเอก็มีความกังวล ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องของสิทธิบัตรยา หากรัฐบาลยอมตกลงในความตกลงที่มากไปกว่าข้อตกลงทริปส์ จะทำให้มีประเด็นปลีกย่อยหลายอันที่ขัดขวางการแข่งขันของยาชื่อสามัญและไม่ให้นำมาตรการยืดหยุ่นอื่นๆ มาใช้กับระบบยาในประเทศได้

เป็น 2 ประเด็นสำคัญที่ไม่สามารถละสายตาได้