จุดเริ่มต้นจาก “กลุ่ม” สู่ “เครือข่าย”

การก่อตัวของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ เริ่มตั้งแต่ปี 2538 – 2539 โดยมีการรวมกลุ่มกันของผู้ติดเชื้อฯ อันเนื่องมาจากการรังเกียจ ความไม่เข้าใจของสังคมต่อผู้ติดเชื้อฯ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ต้องออกมาหาที่ยืนของตัวเอง ด้วยการมาพบปะ รวมกลุ่ม โดยเริ่มต้นเพียงหวังพึ่งพากันด้านกำลังใจ ท่ามกลางผู้ที่ตกอยู่ในปัญหาเดียวกัน

ในช่วงนั้นมีการรวมกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ขึ้นก่อนทางภาคเหนือตอนบน และกรุงเทพฯ และในปี 2538 นี้เอง มีการจัดประชุมผู้ติดเชื้อฯ นานาชาติ ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มและเกิดเครือข่ายของผู้ติดเชื้อฯ ทั่วประเทศมากขึ้น รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานภาครัฐก็สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเช่นเดียวกัน

งานหลักของกลุ่มในช่วงแรกมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือกันในหมู่สมาชิก เช่น การประชุมกลุ่มหรือการพบปะประจำเดือน เพื่อให้สมาชิกมีโอกาสพบเพื่อน และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมถึงการเยี่ยมบ้านเพื่อนสมาชิกที่มีปัญหา การช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจเฉพาะหน้า การช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาให้กับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์ เป็นต้น

ต่อมากลุ่มผู้ติดเชื้อฯ หลายพื้นที่ขยายการทำงานมากขึ้น เช่น การเป็นวิทยากรสร้างความเข้าใจเรื่องเอดส์ในชุมชน จนกระทั่งการพยายามให้ชุมชนเห็นปัญหาและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเอดส์

อย่างไรก็ดี จากการเรียนรู้ของหลายกลุ่มพบว่า ผู้ติดเชื้อฯ ในระดับกลุ่มเองยังไม่สามารถทำงานแก้ไขปัญหาได้บางเรื่อง เช่น สังคมโดยรวมยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพื่อนสมาชิกยังไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังเกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อฯ รวมทั้งเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์ ดังนั้น จึงมีการพบปะกันระหว่างกลุ่ม จนรวมเป็นเครือข่ายในระดับจังหวัด ระดับภาค เพื่อให้ผู้ติดเชื้อฯ ในแต่ละกลุ่มเห็นมุมมองการทำงานของกลุ่มอื่นๆ และร่วมคิด ผลักดันนโยบาย รวมทั้งเป็นตัวแทนของผู้ติดเชื้อฯ ในการเสนอปัญหาและมีส่วนร่วมในการทำงานระดับนโยบายแก้ปัญหาเอดส์

ในวันที่ 8 – 10 ตุลาคม 2540 มีการพบปะกันของตัวแทนผู้ติดเชื้อฯ ครั้งใหญ่ครั้งแรก ในการประชุมสมัชชาผู้ติดเชื้อฯ ในประเทศไทย ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นการเกิดขึ้นครั้งแรกของ “เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย” และเป็นความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ด้วยเช่นกัน โดยก่อนหน้านั้น มีเครือข่ายระดับภาคเกิดขึ้นก่อนแล้ว 3 เครือข่าย คือ ภาคเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคอีสาน

ผลจากการรวมตัวกันนี้ ได้วางเป้าหมายการทำงานของเครือข่ายฯ และมีการเลือกตั้งคณะกรรมการเครือข่ายฯ จากตัวแทนของทุกภาคเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นกลไกในการทำงานเครือข่ายฯ จากนั้นแกนนำจากแต่ละภาค ก็กลับไปดำเนินภารกิจของตัวเอง แต่แผนงานร่วมในระดับนโยบาย ยังไม่มีการสานต่อที่ชัดเจนนัก

จนกระทั่งในปี 2542 มีการประชุมสมัชชาเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ครั้งที่ 2 ที่ จ.หนองคาย ซึ่งมีแกนนำกลุ่มเข้าร่วมจากทั้ง 6 ภาค คือ ภาคเหนือตอนบน ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคเหนือตอนล่าง ส่วนของภาคใต้นั้นยังไม่มีการรวมเป็นเครือข่าย แต่มีตัวแทนจากกลุ่มเข้าร่วม

ในการประชุมครั้งนี้ เครือข่ายฯ เห็นความชัดเจนมากขึ้นว่า นอกจากปัญหาการถูกรังเกียจ กีดกัน ยังมีปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือ การเข้าถึงการรักษา รูปธรรมที่สะท้อนปัญหาที่ชัดเจน คือ จากการสำรวจการได้รับยาป้องกันโรคปอดอักเสบพีซีพี ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้ติดเชื้อฯ ของแกนนำที่มาร่วมประชุม พบว่า มีผู้ที่เข้าเกณฑ์การรับยาป้องกัน แต่ได้รับยาไม่ถึง 50% ทั้งที่ยาป้องกันหาได้ ราคาไม่แพง แต่ระดับแกนนำผู้ติดเชื้อฯ ไม่สามารถเข้าถึงได้ และนั่นยังไม่รวมถึงการเข้าถึงยาต้านไวรัส ที่แทบไม่ต้องนึกถึงในสถานการณ์ขณะนั้น

จากการพบกันครั้งนี้ เครือข่ายฯ มีเป้าหมายและแผนงานร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะแนวทางการทำงานเรื่องการเข้าถึงการรักษา ซึ่งงานดังกล่าว มีแนวร่วมที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่พร้อมร่วมทำงานด้วยอย่างชัดเจน โดยเริ่มจากการทำงานเพื่อเข้าถึงการป้องกัน และรักษาโรคฉวยโอกาส รวมทั้งการทำงานเพื่อการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี

“จากการพบกันครั้งนั้น เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เครือข่ายฯ เห็นว่า เรื่องการเข้าถึงการรักษา เป็นงานเร่งด่วน ที่เราต้องลงมืออย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้น ก็จะไม่มีวันเกิดการเปลี่ยนแปลง เราต้องทนดูเพื่อนผู้ติดเชื้อฯ ตายลงทุกวัน เพราะไม่รู้เรื่องการดูแลตนเอง และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และต้องจำยอมกับสิ่งที่เกิดขึ้น..” กมล อุปแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ปี 2546 – ปี2550 กล่าว

วิสัยทัศน์ในการทำงานของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ

วิสัยทัศน์ในการทำงานของเครือข่ายฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และชุมชน ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพ

ในขณะเดียวกันเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ได้ประสานงานระหว่างกลุ่มและเครือข่ายในทุกระดับ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และประสบการณ์ในการทำงานด้านต่างๆ โดยมุ่งหวังให้กลุ่มผู้ติดเชื้อฯ เกิดการเรียนรู้ และมีทักษะการทำงานที่เข้มแข็ง ชัดเจน และมีเอกภาพในการทำงานร่วมกัน รวมทั้งเป็นองค์กรแถวหน้า ในการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ ร่วมกับองค์กรภาคีต่างๆ

เป้าหมายการทำงาน

  • เพื่อให้ผู้ติดเชื้อฯ ได้รับการดูแลรักษาที่รอบด้านอย่างมีมาตรฐาน ทั่วถึง และเท่าเทียม โดยคำนึงถึงการส่งเสริมโอกาสให้แก่กลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ที่เข้าถึงยาก เช่น คนรักเพศเดียวกัน ผู้ใช้ยาเสพติด แรงงานพลัดถิ่น เด็ก ผู้หญิง ฯลฯ
  • ผู้ติดเชื้อฯ / ผู้ได้รับผลกระทบจากเอดส์ สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ โดยชุมชนเข้าใจ ยอมรับ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเอดส์
  • สมาชิกกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ มีศักยภาพในการทำงาน โดยมีทิศทางกลไกการประสานงาน และความโปร่งใส ตรวจสอบได้
  • สมาชิกกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ และเครือข่ายฯ มีความเข้าใจเรื่องสิทธิ และมีกลไกในการดำเนินการเพื่อส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

ติดต่อเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย / ภาคกลาง / ภาคตะวันตก

494 ซอย 14 ลาดพร้าว 101 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
Tel : 02-377-5065 Fax: 02-377-9719
อีเมล์ : tnpth@thaiplus.net

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคตะวันออก

73/2 ซ.12 ถ.ราษฎร์บำรุง ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง 21000
Tel : 038-624-009

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคเหนือตอนบน

151/5 หมู่ 9 ต.สันทรายน้อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 52100
Tel : 094-635-9417

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคเหนือตอนล่าง

874 หมู่ 9 ถ.พิชัยสงคราม ต.อรัญญิก อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000
Tel : 055-220-110

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคอีสาน

137/1 ซอยนันทนา (ทหาร1) ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000

Tel : 043-330-714

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคใต้

53/13 ถ.เพชรเกษม ซอย 18/1 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
Tel:074-358-089